อะหมัด/มาวันดี/ยะลา/12 เม.ย.67 / 082-260-8313
ผช.ผบ.ตร. ลงพื้นที่ยะลา แถลงข่าวร่วม ผลการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ พร้อมยาเสพติด
เวันที่ 12 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จ.ยะลา (ศปก.ตร.) เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร./ผบ.ศปก.ตร.สน. พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภ.9 พลตรี กรกฎ ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายวันชัย เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 9 ได้ร่วมกันกันแถลงข่าวผลการจับกุมนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ จำนวน 4 เครือข่าย ได้ผู้ต้องหา 10 คน ตรวจยึดยาเสพติด ไอช์ จำนวน 681 กิโลกรัม ยาบ้า จำนวน 930,000 เม็ด อาวุธปืน จำนวน 4 กระบอก ตรวจยึดทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมูลค่าประมาณ 3,900,000 บาท
โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.2 บก.สส.จชต. เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกันทำการจับกุมตัวนายสมใจ พลเยี่ยม อายุ 63 ชาวจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยของกลาง ยาบ้า จำนวน 202,000 เม็ด รถยนต์ จำนวน 1 คัน และโทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง หลังจากนั้นได้ทำการขยายผลการจับกุมนายอิสมะแอ มูซอ อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดยะลา พร้อมด้วยของกลาง ยาบ้า จำนวน 40,000 เม็ด ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2567 ได้ขยายผลไปจับกุมตัวนายสมศักดิ์ วิรัชพงษ์ อายุ 50 ปี ชาวจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยของกลางยาบ้า จำนวน 20,000 เม็ด โทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง รถยนต์กระบะ จำนวน 1 คัน โดยกล่าวหาทั้งหมดว่า มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน)และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งทำการตรวจยึดทรัพย์สินเบื้องต้น มูลค่าประมาณ 1 ล้าน 3 แสนบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ตชด.449 บช.ปส. เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกันทำการจับกุมตัว นายอำพล หนูสงวน อายุ 36 ปี นายเดชา หมัดอะด้ำ อายุ42 ปี นายอับดล หลงอาหลี อายุ 33 ปี และนายปรเมษฐ์ เตียวตระกูล อายุ 26 ปี ทั้งหมดเป็นชาว จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยของกลางยาไอซ์ จำนวน 211 กิโลกรัม ยาบ้า 660,000 เม็ด โทรศัพท์มือถือ จำนวน 5 เครื่อง และรถยนต์ จำนวน 2 คัน โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และ เป็นการกระทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป และทำการตรวจยึดทรัพย์เบื้องต้น มูลค่าประมาณ 1 ล้าน 4 แสนบาท
และเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรควนมีด จังหวัดสงขลา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันจับกุม นายซาการียา แวแม และนายอาบ๊ะ บือชา ชาวจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยของกลางยาไอซ์ จำนวน 470 กิโลกรัม รถยนต์บรรทุกสิบล้อ จำนวน 1 คัน โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ( เมทแอมเฟตามีน) โดยการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และเป็นการกระทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป พร้อมทำการตรวจยึดทรัพย์สินเบื้องต้น มูลค่าประมาณ 1 ล้าน 2 แสนบาท
ส่วนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรนาขยาด จังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกันจับกุม นายบวรพงศ์ ขำสิงห์ อายุ 30 ปี พร้อมด้วยของกลางยาบ้า จำนวน 8,000 เม็ด ยาไอซ์ น้ำหนักประมาณ 500 กรัม อาวุธปืนยาว ปืนกลมือ M3 ใช้กับกระสุนขนาด .45 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนสั้นแบบลูกโม่ ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาด .45 จำนวน 19 นัด กระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 3 นัด โทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง โดยกล่าวหาว่า จำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภท 1(เมทแอมเฟตามีน) โดยกระทำเพื่อการค้าและก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนและกระทำโดยมีอาวุธปืนหรือใช้อาวุธปืน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยผิดกฎหมาย
พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร./ผบ.ศปก.ตร.สน. เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินการในเรื่องของการขยายผลทำลายเครือข่ายจะได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลในเครือข่ายที่ร่วมกระทำผิด และยังไม่ถูกจับกุมต่อไป ในส่วนมาตรการทางด้านทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จะได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหายาเสพติด ที่เป็นนโยบายหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากฝ่ายทหาร และฝ่ายปกครองในพื้นที่
พลตรี กรกฎ ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่ท่านผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้แถลงผลการจับกุมไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า ด่านตรวจจุดตรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความจำเป็นต่อการดูแลพี่น้องประชาชน เป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พี่น้องประชาชน เพื่อตรวจสอบสกัดกั้นการลักลอบกระทำผิดกฎหมายและป้องกันปราบปรามสิ่งผิดกฎหมาย การตั้งด่านตรวจ จุดตรวจยังมีส่วนช่วยในการปราบปรามการกระทำผิดทางกฎหมายและภัยแทรกซ้อนต่างๆ อาทิเช่น ปัญหายาเสพติด สินค้าหนีภาษี และสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ตลอดจนยังมีผลทางอ้อมในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากผู้ใช้รถผู้ใช้ถนนจะต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตชุมชน