นครพนม-ผวจ.นครพนม ตรวจรอยร้าว “พระธาตุโนนตาล” หวั่นไม่ปลอดภัย ห้ามสาธุชนเข้าใกล้ กรมศิลปากรของบซ่อมแซม

นครพนม-ผวจ.นครพนม ตรวจรอยร้าว “พระธาตุโนนตาล” หวั่นไม่ปลอดภัย ห้ามสาธุชนเข้าใกล้ กรมศิลปากรของบซ่อมแซม
*****
สืบเนื่อง มีการพบรอยร้าวที่รอบองค์พระธาตุโนนตาล ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุ หมู่ 9 บ้านธาตุ ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอำเภอท่าอุเทน โดยกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีอายุเก่าแก่กว่า 120 ปี ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และวัตถุโบราณไว้จำนวนมาก มีขนาดความสูง 36 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 7.50 เมตร ทั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้องค์พระธาตุเกิดรอยร้าว อาทิ ความชื้นที่สะสมอยู่ภายใน และ อาจได้รับการกระทบกระเทือนจากรถบรรทุกหนัก เนื่องจากองค์พระธาตุตั้งอยู่ใกล้ถนนทางหลวงชนบท หมายเลข นพ.3014 ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ล่าสุด วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม พร้อมด้วย นางยุวดี มีบุญ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม นายปรีชา สอิ้งทอง นายอำเภอท่าอุเทน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ารอบองค์พระธาตุมีรอยร้าวจริง คาดเสื่อมสภาพตามกาลเวลา โดยจากการประสานกับ นายนายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ทำให้ทราบว่าเบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจ และดำเนินการติดตั้งเหล็กแบนไว้รอบองค์พระธาตุ โดยใช้ลวดสลิงรัดรอบองค์พระธาตุ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันรอยร้าวที่อาจจะมีเพิ่มเติม เนื่องจากกังวลว่าหากมีฝนตกลงมา แล้วน้ำจะไหลซึมเข้าไปตามรอยร้าวสู่ด้านในของตัวองค์พระธาตุ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพระธาตุโนนตาล ก็อาจจะมีการยุบตัวลงมาได้
ส่วนการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพ ด้านนอกองค์พระธาตุโนนตาล ไม่มีความเอียงยังคงตั้งตรงปกติ แต่กายภาพด้านในไม่สามารถประเมินได้ แต่ก็ได้มีการประสานไปยังกรมศิลปากร เพื่อขอการสนับสนุนวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ นำเครื่องมือเฉพาะทางมาตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง โดยทางวิศวกรจะมีการออกแบบและประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบูรณะ ให้กลับมามีความสมบูรณ์เช่นดังเดิม
ซึ่งเบื้องต้นได้มีการทำเรื่องของบประมาณในปี 2568 มาใช้ในการซ่อมบำรุงตามสถานการณ์ปัจจุบันไว้แล้วเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้มอบหมายให้นายอำเภอท่าอุเทนได้ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน พุทธศาสนิกชน ห้ามเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตราย
สำหรับลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระธาตุโนนตาล เป็นเจดีย์ทรงมณฑป ยอดบัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนม ระยะก่อนที่จะมีการบูรณะในปี 2483 สร้างก่ออิฐถือปูนในผนังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยห้องมณฑปซ้อนกัน 2 ชั้น ในตอนกลางแต่ละด้านของแต่ละชั้นเป็นซุ้มประตูเลียนแบบพระธาตุพนม บริเวณมุมส่วนมณฑปประดับปูนปั้นรูปบุคคลขี่พาหนะที่เป็นสัตว์ เหนือมณฑปเป็นฐานบัวทองไม้ลูกฟักในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ที่แต่งลายปูนปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงกัน ตอนกลางแต่ละด่านจะเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านหน้าปิดไว้ด้วยกระจกใสเหนือขึ้นไปเป็นชั้นบัวสี่เหลี่ยม ตกแต่งด้วยปูนปั้นลายดอก รอยสลับกับการประดับกระจกสีเหลี่ยม ปลียอดเป็นบัวสี่เหลี่ยมประดับยอดฉัตร
นอกจากนี้ด้านทิศเหนือองค์พระธาตุ ยังมีโบสถ์หรือที่ชาวอีสานเรียกสิมตั้งอยู่ ภายในมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนทาสีทอง ประทับนั่งปางมารวิชัย จำนวน 3 องค์ ประดิษฐาน ไว้ให้ทุกคนได้มากราบไหว้บูชา สำหรับเอกลักษณ์ของวัดพระธาตุโนนตาล คือพระธาตุเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางรูปแบบจากพระธาตุพนม และสิมทรงพื้นถิ่นอีสานในระยะปลายพุทธะศตวรรษที่ 25 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 จากกรมศิลปากร
//ภาพ-ข่าว//พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล//นครพนม (061-2838566)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *