นครพนม-วิ่งข้ามโขงซีซั่น 5 ครบรอบ 12 ปีเปิดสะพานไทย-ลาว 3 นักกีฬาเกือบ 4 พันคึกคัก “เดือน มนพร” รมช.คมนาคม บีบแตรลมปล่อยตัว หนุนท่องเที่ยวเมืองชายแดน

นครพนม-วิ่งข้ามโขงซีซั่น 5 ครบรอบ 12 ปีเปิดสะพานไทย-ลาว 3 นักกีฬาเกือบ 4 พันคึกคัก “เดือน มนพร” รมช.คมนาคม บีบแตรลมปล่อยตัว หนุนท่องเที่ยวเมืองชายแดน

DCIM100MEDIADJI_0413.JPG
DCIM100MEDIADJI_0421.JPG
DCIM100MEDIADJI_0376.JPG

*****
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 เวลา 05.00 น. ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) ดร.มนพร เจริญศรี (เดือน) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รมช.คมนาคม) ส.ส.นครพนมเขต 2 พรรคเพื่อไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดินวิ่งข้ามโขง ซี่ซั่น 5 พร้อมปล่อยตัวนักกีฬา ทั้งประเภทเดินและวิ่งเกือบ 4,000 คน แข่งขันเพื่อสุขภาพในรุ่นต่างๆ รวม 4 ประเภท โดยใช้เส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) เป็นจุดสตาร์ท จากนั้นนักกีฬาโดยเฉพาะประเภทมาราธอน 42 กิโลเมตร และ ฮาล์ฟมาราธอน 21 กิโลเมตร หลังวิ่งขึ้นสะพานแล้วไปกลับตัวยังฝั่งประเทศลาว ก็จะใช้ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 212 (ชยางกูร) เข้าในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ถึงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ก็กลับตัวอีกครั้งวิ่งถนนเลียบแม่น้ำโขง เพื่อกลับมายังเส้นชัยที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ถือสิ้นสุดการแข่งขันโดยสมบูรณ์
การจัดกิจกรรมเดินวิ่งข้ามโขง เป็นการส่งเสริมการออกกำลังกาย สร้างสุขภาพ อีกทั้งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว ชูเส้นทางท่องเที่ยวให้ประชานรู้จักเมืองแห่ง 3 ที่สุด ประกอบด้วย 1.สวยที่สุด คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) ซึ่งเป็นสะพานเส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงอินโดจีน ไปยังประเทศลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ เป็นระยะทางสั้นที่สุด เพราะจาก จ.นครพนม ไปถึงด่านพรมแดนเวียดนาม มีระยะทางเพียง 195 กิโลเมตรเท่านั้น และถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่มีการออกแบบสวยงามกว่าทุกแห่ง เป็นสะพานข้ามน้ำโขงแห่งเดียวในไทย ที่ออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 (ค.ศ.2009) และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 11-11-11 (วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.2011) ปีนี้ถือว่าครบรอบ 12 ปีของการเปิดใช้งานสัญจร
ทั้งนี้ ทางจังหวัดนครพนม มีมติจัดกิจกรรมเดินวิ่งข้ามโขง กำหนดจัดในสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี นอกจากนี้ยังมีจุดงามที่สุด เป็นการประชาสัมพันธ์ เส้นทางการท่องเที่ยว เลียบแม่น้ำโขง มีทั้งทางจักรยานหรือไบค์เลน รวมถึงสร้างช่องทางเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ ที่สามารถชมความสวยงามทางธรรมชาติสองฝั่งโขง อีกทั้งประชาชน นักท่องเที่ยวยังได้มีโอกาส กราบไหว้ขอพร องค์พญาศรีสัตตนาคราช แลนด์มาร์กพญานาคศักดิ์สิทธิ์ นาคาธิบดีสองฝั่งโขง ส่วนศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือ องค์พระธาตุพนม อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ กระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า
สำหรับการจัดกิจกรรมเดินวิ่งข้ามโขง ครั้งนี้เป็นซีซั่น 5 มี ส.ส.เดือน-ดร.มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม/ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม ท่าน วันไซ พองสะหวัน เจ้าแขวงคำม่วน สปป.ลาว นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึงนักกีฬาเดินวิ่งร่วมกิจกรรม นอกจากจะได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ยังได้ชื่นชมความสวยงามของสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน รวมถึงแสงแรกของเช้าวันใหม่ ที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากแนวเขาหินปูนฝั่งแขวงคำม่วน สปป.ลาว ถือเป็นอันซีนไทยแลนด์ที่นักท่องเที่ยวรู้จักเป็นอย่างดี
โดยประชาชน นักท่องเที่ยว และนักกีฬาได้เดินวิ่งผ่านสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน ชื่นชมความสวยงามทางธรรมชาติสองฝั่งไทย – ลาว สัมผัสความสวยงามของเส้นทางจักรยาน ช่องทางเดินวิ่ง และชมสถาปัตยกรรมก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส ในยุคสงครามอินโดจีน เลียบแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม พร้อมได้มีโอกาส กราบขอพรสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญของ จ.นครพนม เป็นสิริมงคลอีกด้วย
ปัจจุบันจังหวัดนครพนม ถือเป็นเมือง 3 ที่สุด 1.ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด-พระธาตุพนม 2.สวยที่สุด-สะพานมิตรภาพไทยลาว 3 และ 3.งามที่สุด-ทิวทัศน์สองฝั่งโขง ที่มีประชาชน นักท่องเที่ยว ต่างให้ความสนใจ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นทุกปี ล่าสุด มีตัวเลขประชาชน นักท่องเที่ยว เข้ามาในพื้นที่ปีละกว่า 1.5 ล้านคน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร ในช่วงวันหยุด และเทศกาลสำคัญ โรงแรมที่พักถูกจับจองเต็ม 100 % ส่งผลดีต่อเงินหมุนเวียนสะพัด ในพื้นที่
ส่วนการจัดกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะได้ส่งเสริมการท่องเที่ยว รายได้จากการจัดกิจกรรม หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสมทบ สนับสนุนองค์กรการกุศล ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส และสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลน
//ภาพ-ข่าว//พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล//นครพนม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *