กรมประมงเร่งสร้างคาร์บอนเครดิตในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลผ่านกลไกเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กร ต่างประเทศ

กรมประมงเร่งสร้างคาร์บอนเครดิตในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลผ่านกลไกเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กร
ต่างประเทศ


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 2 ยี่สก อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ได้มีการหารือร่วมกับ Dr. Aaron Mcnevin ตำแหน่ง Global Network Lead จากองค์กร World Wildlife Fund (WWF) ดร.ระวี วิริยธรรม ตัวแทนจาก Seafood Task Force (STF) ผู้แทนจาก Gordon and Betty Moore Foundation และนางพิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง
องค์กร World Wildlife Fund (WWF) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำจืด และทรัพยากรทางทะเล เพื่อมุ่งมั่นที่จะปกป้องดูแลรักษาธรรมชาติและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการทำงานเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และองค์กร Seafood Task Force (STF) เป็นความร่วมมือกันของบริษัทอาหารทะเลระดับโลกภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ร่วมสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์จากการจับสัตว์น้ำ และป้องกันทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ส่วนองค์กร Gordon and Betty Moore Foundation เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมหารือการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่หมุนเวียนกลับคืนมา ซึ่งกรมประมงมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่น่าเชื่อถือ และครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต การแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำได้ ซึ่งทั้ง 3 องค์กรยินดีให้การสนับสนุนกรมประมงเพื่อร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) ในระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โดย Gordon and Betty Moore Foundation ยินดีจะช่วยประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดสำหรับการผลิตสินค้าที่สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม (Carbon Credit) และสร้างการรับรู้ จูงใจ ให้ผู้ซื้อนำไปสู่การตัดสินใจนำเข้าสินค้ากุ้งของไทยทั้งยุโรป อเมริกา หรือประเทศอื่นๆ จึงส่งผลให้สินค้าประเภทนี้มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไป จึงเป็นโอกาสดีและทางเลือกของเกษตรกรที่สนใจ นอกจากนี้ยังได้มีการหารือวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนเช่น การใช้หอยสองฝาและสาหร่ายช่วยลดปริมาณคาร์บอนในระบบการเลี้ยงซึ่งจะนำไปสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตในอนาคต ซึ่งในการหารือในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *