อับดุลหาดี/14 ส.ค. 66
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง กังวลการยกเลิกเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า-เห็นว่าเป็นแนวทางล้าหลัง-ไม่ก้าวหน้า หนุนสิทธิเสมอกัน รองรับสังคมสูงอายุ
(14 สิงหาคม 2566) – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ คัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนด “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แสดงทัศนะต่อประเด็นดังกล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศกำลัง พัฒนาแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 18 ติดอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจนคาดการณ์ว่าอีก 9 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด สูงถึงร้อยละ 28 ของประเทศ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นภาพผู้สูงอายุตามเขตชนบทถูกทอดทิ้งอยู่ลำพัง อันมีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ เพราะขาดรายได้ขาดการส่งเสียจากบุตรต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรับเงินรายเดือน 600-1,000 บาท แล้วแน่นอนว่า วัยที่เพิ่มขึ้น ร่างกายย่อมเสื่อมถดถอยลงตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บอีกมากมาย”
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวด้วยว่า “ด้วยภาวะสังคมสูงวัย พรรคประชาชาติได้มีนโยบายพรรคที่สนับสนุนสวัสดิการถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน ด้วยหลักการระบบบำนาญแห่งชาติและสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งรัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างเสมอหน้า ด้วยสิทธิที่เสมอกันไม่ว่ายากดีมีจน ภายใต้หลักการที่ว่าสวัสดิการเป็น สิทธิอันพึงมีของประชาชน มิใช่เพียงแค่หน้าที่ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถาเพื่อให้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต จึงมีความจำเป็นสำคัญที่สอดคล้องกับ ภาคประชาสังคม และแวดวงนักวิชาการ ต่างร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันนโยบายบำนาญถ้วนหน้า สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รับเงินรายเดือนละ 3,000 บาท เพื่อยกระดับให้ประชาชนเกิดความเท่าเทียมกันครับ”