ครม. ไฟเขียวงบประมาณ 777.44 ล้านบาท ปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียน มีผลภาคเรียนที่ 1/2567
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เรื่อง ขออนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อขออนุมัติปรับเพิ่มราคากลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มขึ้นถุง หรือกล่องละ 0.46 บาท ให้มีผลตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป โดยนมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ เดิมราคากลาง 6.89 บาท เป็นราคากลางใหม่ 7.35 บาท/ถุง , นมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที เดิมราคกลาง 8.13 บาท เป็นราคากลางใหม่ 8.59 บาท/กล่อง
การปรับราคารับซื้อน้ำนมโคตามประกาศดังกล่าว เนื่องจากมีการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโคขึ้นกิโลกรัมละ 2.25 บาท จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.46 บาท โดยคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียนดังกล่าวแล้ว
หากมีการปรับเพิ่มราคากลางนมโรงเรียนดังกล่าวจะส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน คือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน , กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ต้องได้รับการอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมทั้งสิ้น 777.44 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อนมโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียน จำนวน 6,500,298 คน เป็นเวลา 260 วัน โดยหน่วยงานที่มีงบประมาณไม่เพียงพอจะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมพิจารณาแล้วเห็นควรที่ ครม. จะอนุมัติหลักการ/ไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ/เห็นด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็น /ข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น สำนักงบประมาณมีความความเห็น และข้อเสนอ 1) ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงแหล่งที่มาของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถได้รับงบประมาณทันการจัดซื้อในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 และไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเห็นสมควรอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสนับสนุนอาหารเสริม (นม) 3) งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรแล้วแต่กรณี รวมถึงพิจารณานำเงินรายได้หรือเงินสะสมมาสมทบในส่วนที่เพิ่มขึ้นในโอกาสแรกก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีต่อไป ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามขั้นตอนต่อไป
ติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์
#คมชัด AEC TV ออนไลน์
#ข่าวนคร AEC TV ออนไลน์