อดีตประธานสภา อบจ.ประจวบฯพร้อมชาวบ้านแจ้งดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ ทช. ปักหมุดแนวเขตป่าชายเลนทิพย์ในที่ทำกินของประชาชนชาว อ.กุยบุรี
.วันที่ 27กันยายน นายปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมในการสนธิกำลังปฏิบัติการเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ห้องประชุมที่ทำการอุทยานแห่งขาติเขาสามร้อยยอด อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายชัชนรินทร์ ชัชวงศ์วาลย์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 จ.เพชรบุรี หน่วยงานเจ้าภาพเข้าร่วม พร้อมด้วยตัวแทนจากอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปทส. เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จังหวัดประจวบฯ เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กุยบุรี จากการประชุมใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ผู้เข้าร่วมประชุมมีมติร่วมกันแจ้งให้เจ้าหน้าที่ ทช.ไปตรวจสอบ ตรวจยึดพื้น ด้วยการปักหลักแนวเขตกันพื้นที่จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 53 ไร่ ในพื้นที่ป่าชายเลน ใกล้ทางเข้าหาดสามพระยา หมู่ 2 ต.เขาแดง อ.กุยบุรี หลังจากมีหลักฐานการบุกรุกป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 และวันที่ 22สิงหาคม 2543
ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น. ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยกว่า 50 นาย เดินทางถึงพื้นที่เป้าหมายในการตรวจยึด ซึ่งห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดประมาณ 5 กิโลเมตร พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านกว่า 200 คน นำโดยนายมานพ ตั้งบูรพาจิตร์ หรือ สจ.ตี๋ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด( อบจ.) ประจวบคีรีขันธ์ อดีต ส.อบจ.กุยบุรีหลายสมัย นายวิฑูรย์ รัศมี อดีตนายก อบต.กุยเหนือ อ.กุยบุรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รอสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ ทช.ว่า ใช้อำนาจใดในการตรวจยึด หรือดำเนินการตามกฎหมายใดให้ใช้อำนาจ ในการตรวจยึดพื้นที่ป่าชายเลนที่ประชาชนเข้าทำกิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการรังแกประชาชนหรือไม่ เนื่องจากการปักแนวเขตอาจกีดขวางบนทางสาธารณะในการเดินทางเข้าพื้นที่ทำกิน และเหตุใดจึงมีการเร่งรีบทำเรื่องนี้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ เหตุใดจึงไม่ดำเนินการให้รอบคอบเป็นไปตามแนวทางที่เคยมีคำสั่งศาลหรือมีคำวินิจฉัยจากผู้ตรวจการแผ่นดิน
นอกจากนั้นแกนนำชาวบ้านระบุว่า ที่ผ่านมายังมี 2 หน่วยงาน มีข้อโต้แย้งไม่ให้มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่หมู่ 2 ต.เขาแดง จำนวน 23 แปลง หลังจากยื่นเอกสารนานกว่า 4 ปี มีการหลักฐานการครอบถูกต้องครบถ้วนมีการลงนามโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ชาวบ้านมีการนำเอกสารการครอบครองที่ดินไปจ่ายภาษีที่ดินฯที่ อบต.เขาแดง
มีรายงานว่า ระหว่างการโต้แย้งสิทธิ แต่ละฝ่ายมีการแสดงความเห็นในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลานานกว่า 30 นาที เจ้าหน้าที่ ทช.ยืนยันว่าจะต้องปักแนวเขตในพื้นที่ป่าชายเลนตามที่มีมติในการประชุม หากมีผู้ใดกระทบสิทธิในที่ทำกินให้ดำเนินการได้ตามกฎหมาย สำหรับพื้นที่ปักแนวเขตเบื้องต้นพบว่าไม่มีสภาพเป็นป่าชายเลน
ด้านแกนนำชาวบ้านยืนยันว่าหลังจากนี้ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ทช.และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่ยังมีข้อโต้แย้ง ไม่มีข้อยุติในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเห็นจากหลายองค์กรที่เข้าตรวจสอบจากการร้องเรียนของประชาชน และบางกรณีเจ้าหน้าที่อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
แกนนำชาวบ้าน ระบุว่า ในอนาคตหากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังมีการกระทำที่กระทบสิทธิของประชาชนก็จะมีปัญหาอย่างต่อเนื่องจากการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 2 ครั้งในปี 2509 และปี 2525 มีผลกระทบกับที่อยู่อาศัยและที่ดินของประชาชน 3 อำเภอ จำนวน 17 ตำบล สำหรับการร้องเรียนกรณีนี้ แกนนำชาวบ้านไม่ได้แจ้งให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือนักการเมืองในพื้นที่รายใดมารับทราบและให้การช่วยเหลือในเชิงนโยบาย เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการต่อสู้โดยใช้ข้อกฎหมาย คำสั่งศาล และข้อเท็จจริงในการครอบทำกินเพื่อยุติปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 50 ปี แต่ถ้าหากนายเฉลิมชัย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีชาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะให้ความสนใจติดตามตรวจสอบการทำงานในกระทรวงเพื่อช่วยเหลือ ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่มีข้อพิพาทยาวนานกับอุทยานฯหรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ถือว่าเป็นภาระหน้าที่ หากทำสำเร็จคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์อาจเพิ่มขึ้น หลังจาก ส.ส.ของพรรคเขต 1 สอบตกในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566
ด้านนายนายปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากการประชุมหลายหน่วยได้ซักถาม ทช.กรณีแนวเขตป่าชายเลนได้ใช้กฎหมายใด ก็ยอมรับมีการใช้มติ ครม.รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของ พช.ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ทช.ปี 2558 สำหรับการกระทำที่กระทบสิทธิประชาชนก็ยอมรับว่าการใช้มาตรการทั้งมติ ครม.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เวลาผ่านไปไม่นาน ดังนั้นหากประชาชนเข้าทำประโยชน์ก่อน ก็จะมีข้อเท็จจริงตรวจสอบได้ หรือหาก ทช.มีผลสรุปพิสูจน์ว่าเป็นการป่าชายเลนตามกฎหมาย ผู้ใดเข้าครอบครองก่อนผู้นั้นย่อมมีสิทธิ ส่วนตัวยอมรับว่าในจังหวัดประจวบฯยังไม่มีกรณีศึกษาในเรื่องนี้ และการดำเนินการใดๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการสร้างรับรู้ให้ประชาชนที่อาศัยทำกินมาก่อนมีความเข้าใจ เนื่องจากจังหวัดประจวบฯมีป่าชายเลนทุกอำเภอ สำหรับปัญหาความขัดแย้งยังไม่น่ากังวล แต่ขอให้ต่างฝ่ายแสดงเหตุผล หลักการของกฎหมายในการพูดคุยเพื่อให้มีข้อยุติ
///////////
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 064-364-1644 รายงาน