ลำปาง-OR มุ่งส่งเสริม “โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน” จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ตอกย้ำจุดยืนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ปลูกกาแฟภาคเหนือ
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 ก.ย.2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ โรงแปรรูปเมล็ดกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์
ประธานกรรมการ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าฯเชียงใหม่ และนายพงษ์ศักดิ์ ภัทรเมธีวิญญู ผอ.โครงการบริหารห่วงโซ่อุปทานเมล็ดกาแฟดิบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำคณะสื่อมวลชน จ.ลำปาง และ จ.เชียงใหม่เข้าเยี่ยมชมโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟคาเฟ่ อเมซอน จ.เชียงใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน สัมภาษณ์สำหรับโครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน โดย OR พร้อมเผยแนวคิดการพัฒนาอุทยานคาเฟ่อเมซอน จ.ลำปาง เป็นศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจกาแฟและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในภาคเหนือ
นายดิษทัต เปิดเผยว่า OR ได้ทุ่มเทพัฒนา”โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน”โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขยายผลองค์ความรู้การพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาส ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการจัดตั้งจุดรับซื้อและโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ ดังกล่าว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิก้า จากเกษตรกรโดยตรง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมาและเป็นศูนย์พัฒนาทักษะความรู้ในการผลิตกาแฟให้กับเกษตรกรอีกด้วย
“โรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ คาเฟ่ อเมซอนแห่งนี้ นอกจากช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของ คาเฟ่ อเมซอน ยังถือเป็นต้นแบบในการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟภาคเหนืออย่างยั่งยืนตามแนวทาง OR SDG อีกด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เปิดดำเนินการมีการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในภาคเหนือรวมกว่า 362.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 55 ล้านบาท โดยมีการซื้อ-ขายผ่านระบบ KALA Web Application(กะลา เว็บ แอปพลิเคชัน)เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกษตรกร พื้นที่ปลูก คุณภาพเมล็ดกาแฟ และปริมาณกาแฟกะลาที่รับซื้อ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรลงทะเบียนรวม 255 ราย แบ่งเป็นจากเชียงราย 65% ลำปาง 18% เชียงใหม่ 12% และอีก 5% มาจาก จ.แม่ฮ่องสอน ตาก และ จ.น่าน”
นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับ โออาร์ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมทำกาแฟที่สะอาดต่อสิ่งแวดล้อม แก้วกาแฟก็สามารถที่จะ Reuse ได้ การขนส่งเราก็ได้ EV 100 % โออาร์จะนำพาเศรษฐกิจไทย ดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมมือกับเกษตรกรไทย การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน ถูกต้องและราคาดี ถึงแม้การปลูกกาแฟ 3-4 ปี ถึงจะให้ผลผลิต เป็นเรื่องที่ท้ายทายแต่ก็ต้องทำค่อยเป็นค่อยไป การทำธุรกิจก็ต้องการกำไร แต่ต้องรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะ กาแฟอเมซอน คือกาแฟเพื่อคนทั้งโลก
ชาวบ้าน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โออาร์ส่งเสริมเกษตรกรปลูกกาแฟตั้งแต่ต้น้ำถึงปลายน้ำเป็นสิ่งที่ดี เพราะแต่เดิมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักขายไม่ได้ราคา ต้องปลูกต้องทำตลอดปี จึงได้เข้าร่วม”โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน” กาแฟปลูกครั้งเดียวให้ผลผลิตหลายปี ลดค่าใช้จ่ายมีแหล่งขายที่แน่นอน ทำให้มีรายได้อย่างยั่งยืน ในช่วงที่รอผลผลิต ก็จะปลูกกล้วย พืชผัก ผลไม้อื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง.
วินัย/ลำปาง รายงาน.