ลำปาง-ชาวบ้านหัวเสือ อ.แม่ทะ คัดค้านไม่เอาฟาร์มหมูเจ้าสัวมาตั้งในพื้นที่ และประชาคมไม่โปร่งใสมีการแจกเงินเพื่อจูงใจ
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 28 มี.ค.2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง ชาวบ้านบ้านหัวเสือ หมู่ที่ 2 ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง นำโดยนายไพบูลย์ เจนแพทย์อายุ 82 ปี นางโสภิณ กระจาย
พร้อมตัวแทนชาวบ้านกว่า 20 คน เดินทางมายัง อ.แม่ทะ พร้อมป้ายคัดค้าน การก่อสร้างฟาร์มหมู เราไม่เอาฟาร์มหมู เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่ทะ เรื่อง ขอคัดค้านการสร้างฟาร์มเลี้ยงหมูในเขตหมู่บ้านและรายชื่อราษฎรบ้านหัวเสือและใกล้เคียงที่คัดค้านการก่อสร้างฟาร์มหมู แต่ นอภ.แม่ทะ ติดราชการ จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่ทะ รับเรื่องแทน
โดยหนังสือระบุว่า เนื่องจากในตอนเย็นของวันที่ 20 มี.ค. 2567 ได้รับแจ้งทางเสียงตามสายของหมู่บ้านว่าให้ราษฎรบ้านหัวเสือทุกหลังคาเรือนเข้าร่วมประชุมประจำเดือนมีข่าวสารข้อราชการจะแจ้งให้ทราบ ในวันที่ 21 มี.ค. 2567 ตอนเช้า และในช่วงเช้าของวันที่ 21 มี.ค. 2567 มี
ส.อบต.หัวเสือ ได้ประกาศเสียงตามสายเพิ่มเติมว่าให้ทุกคนนำบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วยเมื่อราษฎรมาถึงที่หอประชุมได้มีผู้นำชาวบ้าน บ้านหัวเสือ ยืนรอยู่และแจ้งให้นำ บัตรประชาชนไปให้ ผช.ผญบ.ลงเลขบัตรประชาชนและเซ็นต์ชื่อไว้ทุกคน
โดยบอกว่าเป็นการเซ็นต์ชื่อเพื่อเข้าร่วมประชุมตามปกติ หลังจากลงเลขบัตรประชาชนและเซ็นต์ชื่อเสร็จแล้ว ผู้ใหญ่บ้านได้พาผู้ประกอบการฟาร์ม และตัวแทน อบต.หัวเสือเข้าร่วมประชุม และแจ้งราษฎรให้ยกมือเพื่อลงมติให้สร้างฟาร์มหมูพร้อมทั้งแจกเงินให้ราษฎรที่มาประชุมคนละ 300 บาท ซึ่งทำให้การประชาคมไม่โปร่งใส มีเงินเป็นแรงจูงใจ และกระทำในทันที่ทันใดไม่ทันได้ตั้งตัว มีราษฎรยกมือขึ้นนำเสนอขอเลื่อนไปก่อนไม่ลงมติในวันดังกล่าว แต่ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวเสือสรุปเอาเองว่ามติผ่านแล้ว ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง โปร่งใส จึงได้นำข้อมูลความจริงต่างๆมาแสดงเพื่อให้ท่านได้พิจารณายกเลิกประชาคมการก่อสร้างฟาร์มหมูในวันที่ 21 มี.ค.2567 หากว่ายังมีการก่อสร้างฟาร์มหมู กลุ่มผู้ร้องคัดค้านจะได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าฯลำปางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายไพบูลย์เปิดเผยว่า จากการขอสร้างฟาร์มหมูของบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังในเขตพื้นที่บ้านหัวเสือและใกล้เคียงชาวบ้านได้มีการคัดค้าน เนื่องจากจะมีผลเสียด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม น้ำเน่าเสียและเหม็นขี้หมู ถ้าเลี้ยงหมู 2,000-4,000 ตัว ถ้าหากเราอนุญาตให้สร้างต่อไป ชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือน จำนวนกว่า 500 คน และลูกหลานอนาคตเราจะอยู่กันแบบไหน อีกทั้งการทำประชาคมเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2567 ก็ไม่ถูกต้อง อ้างว่ามีการประชุมประจำเดือนปกติ แต่ให้นำบัตรประชาชนมาด้วย ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ ไม่รู้เรื่องเขาให้เซ็นต์ชื่อก็เซ็นต์ หลังประชุมเสร็จ ผญบ.อ้างว่า ชาวบ้านมีมติเห็นชอบในการสร้างฟาร์มหมู ทั้งที่ความจริงชาวบ้านไม่มีใครรู้
“ในการประชุมทางตัวแทนบริษัทยักษ์ใหญ่ มีการฉายวีดิโอเกี่ยวกับการสร้างฟาร์มหมูรวมทั้งบรรยายข้อดีต่างๆจากนั้นตนเองจะขอซักถามก็ปิดการประชุมเลยไม่รู้ว่าประชุมเรื่องอะไร ประชาคมเรื่องอะไร ชาวบ้านเห็นด้วยกี่ราย ไม่เห็นด้วยกี่ราย ไม่มีรายงานการประชุม จึงเห็นว่าเป็นการกระทำมิชอบ เพราะมีการจ่ายเงินให้กับชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมเกือบ 200 คนด้วย ซึ่งชาวบ้านโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ก็ไม่รู้ว่าจ่ายค่าอะไร แต่เขาให้ฟรีก็ต้องรับไว้ จึงมายื่นหนังสือกับทาง อ.แม่ทะเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและยับยั้งการก่อสร้างฟาร์มหมูดังกล่าว”
นางโสภิณ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ต้องการฟาร์มหมูในพื้นที่ หากมีการอนุญาตให้ก่อสร้งชาวบ้านจะรวมตัวคัดค้านจนถึงที่สุด และเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปางแต่เรื่องยังไม่คืบหน้า จึงรวมตัวเดินทางมายื่นที่ อ.แม่ทะ อีกครั้งโดยก่อนหน้าวันเดียวกันชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างฟาร์มหมู่ที่บ้านหัวเสือ ในระหว่างรอคำตอบ ทางชาวบ้านจะรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 30 มี.ค.2567 นี้ เพื่อแสดงพลังคัดค้าน เนื่องจากว่า จะมีการประชุมสภาอบต.หัวเสือในวันที่ 3 เม.ย. 2567 นี้ และจะมีวาระญัติการก่อสร้างฟาร์มหมูเข้าประชุมพิจารณาด้วย ชาวบ้านจึงรวมตัวกันคัดค้านให้ถึงที่สุดและเราไม่เอาฟาร์มหมู จึงขอให้ ผู้ว่าฯลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือชาวบ้านด้วย.
วินัย/ลำปาง รายงาน