กูรูเจ้าของสวนทุเรียน1เดียวที่นราฯส่งผลผลิตขายจีน แนะมั่นดูแลโรคระบาดหน้าแล้ง

กูรูเจ้าของสวนทุเรียน1เดียวที่นราฯส่งผลผลิตขายจีน แนะมั่นดูแลโรคระบาดหน้าแล้ง

วันที่27 มีนาคม 2567 นายนิโรธ ศรีสุวรรณ์ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 164 บ้านเขาสามสิบ ม.6 ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเจ้าของสวนทุเรียนสงวนทรัพย์สุวรรณ และเป็นสวนทุเรียน 1 ใน 8 ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการคัดเลิกจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ เพื่อนำผลผลิตทุเรียนส่งจำหน่ายให้กับประเทศจีน

แถมยังเป็นวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญที่ส่วนราชการเชิญตัวไปให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและบำรุงรักษาต้นทุเรียนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ของ จ.นราธิวาส

ที่ใช้พื้นที่เนินเขา จำนวน 48 ไร่ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเป็นเวลานานกว่า 9 ปี โดยปีที่ผ่านมาได้ส่งผลทุเรียนไปจำหน่ายให้กับประเทศจีน จำนวนกว่า 8 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 180 บาท ส่วนผลผลิตที่เหลือจากคัดเกรดได้นำไปจำหน่ายที่ศูนย์การเกษตรตลาดมาลายูบางกอก อ.เมือง จ.ยะลา
ส่วนการสังเกตลูกทุเรียน เกรด A จะมีน้ำหนัก 2 ถึง 6 กก. มีจำนวน 4 ถึง 5 พูเต็ม เกรด B จะมีน้ำหนัก 2 ถึง 6 กก. มีจำนวน 3 พูเต็มกับอีก 1 เมล็ด เกรด C จะมีน้ำหนัก 2 ถึง 6 กก. มีจำนวน 2 พูเต็มกับอีก 1 เมล็ด และผลทุเรียนตกเกรด คือ ทุเรียนผิวไม่สวยมีน้ำหนักต่อผลเกิน 6 ก.ก. หรือน้อยกว่าน้ำหนัก 1.5 ก.ก. ซึ่งผลทุเรียนเกรดนี้จะไม่มีราคาและไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยในทุกปีที่ผ่านมามีพ่อค้าแม่ค้ามาขอซื้อแบบเหมาสวนถึงที่ แต่นายนิโรธ ปฏิเสธเนื่องจากผลผลิตทุเรียนในแต่ละปีจะมีมาตรฐานอยู่ในเกรด A ที่ตลาดมีความต้องการ และไม่คุ้มทุนต่อการว่าจ้างลูกน้อง 7 คน ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ค่อยข้างต้องเอาใจใส่ในทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่การบำรุงใบ การรักษาลำต้น การดูแลช่อดอก การผสมเกสร ซึ่งทุกระยะในกระบวนการออกผลผลิตต้องใช้ความอดทน
นายนิโรธ เจ้าของสวนทุเรียนสงวนทรัพย์สุวรรณ แนะนำในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรที่มีปริมาณน้อย อย่างน้อยต้องมั่นรดน้ำต้นทุเรียนให้ชุ่มแบบวันเว้นวัน ถ้าเริ่มมีช่อดอกหากขาดน้ำช่อดอกจะร่วงและอาจจะยืนต้นตายได้ในอนาคต ประการสำคัญในช่วงฤดูแล้งจะมีโรคระบาดที่มากับกระแสลม คือ พวกเพลี้ยไฟและไรแดงแอฟริกัน ที่เป็นศัตรูพืชที่ทำลายใบแก่ของต้นทุเรียน ซึ่งศัตรูพืชชนิดนี้มีความต้านทานต่อสารกำจัดหรือดื้อยา เราจะสังเกตได้ง่ายหากเพลี้ยไฟหรือไรแดงแอฟริกัน ได้ระบาดสู่ต้นทุเรียนที่ปลูกไว้ ใบทุเรียนจะมีลักษณะเป็นจุดประสีขาวและสีคล้ำกระจายอยู่ในระยะแรก ต่อมาจุดประสีขาวหรือสีคล้ำจะแผ่ขยายออกเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้ทั่วทั้งใบทุเรียนมีอาการขาวซีดไม่เขียวเป็นมันเหมือนใบปกติ และมีคราบสีขาวของไรเกาะติดอยู่บนใบเป็นผงขาวๆคล้ายฝุ่นจับ หากการทำลายของไรยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อาจทำให้ทุเรียนใบร่วงมีผลกระทบต่อการออกดอกและติดผลของทุเรียนได้ เจ้าของสวนทุเรียนควรใช้สารกำกัดแมลงอิมิดาคลอพริดในการฉีดพ่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ประการสำคัญในช่วงฤดูแล้งนอกจากต้องมั่นดูแลสังเกตการระบาดของเพลี้ยไฟและไรแดงแอฟริกันแล้ว ที่ขาดไม่ได้และหากละเลยโดยเด็ดขาด คือ การให้น้ำหรือรดน้ำต้นทุเรียนให้มีความชื้นที่เหมาะสม ให้น้ำหรือรดน้ำที่ปริมาณมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็มีผลต่อผลผลิตที่จะได้ในแต่ละปี โดยเกษตรกรสามารถตรวจสอบได้แบบง่ายๆ คือ ให้สังเกตที่ช่อดอกหากเกษรกรให้น้ำที่เหมาะสม ช่อดอกจะมีสีที่สม่ำเสมอกันและช่อดอกแต่ละดอกจะกางออกจากกันพอเหมาะ หากให้น้ำน้อยช่อดอกจะมีสีไม่สม่ำเสมอกันแถมช่อดอกจะหุบติดกันเป็นพวง และวิธีทดลองการให้น้ำหรือรดน้ำต้นทุเรียนให้มีความชุ่มชื้นที่เหมาะสม จะสังเกตได้ง่ายอีก 1 วิธี แล้วแต่เกษตรกรจะสะดวกวิธีใด คือ การโน้นช่อดอกด้วยมือหากช่อดอกไม่หักหรือมารอยแตก ก็แสดงว่าเกษตรกรให้น้ำหรือรดน้ำต้นทุเรียนให้มีความชื้นที่เหมาะ และหากเราใช้มือบีบดอกทุเรียนที่เป็นพวงแต่ละดอกหากดอกทุเรียนแตกและมีเสียงดัง แสดงว่าเราให้น้ำหรือรดน้ำทุเรียนมีความชุ่มชื้นมากเกินไป
นายนิโรธ เจ้าของสวนทุเรียนสงวนทรัพย์สุวรรณ กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งการดูแลต้นทุเรียนที่สำคัญคือการให้น้ำ ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยๆวันเว้นวันครั้งละ 20 ถึง 30 นาทีในช่วงระยะดอก ศัตรูที่พบในหน้าแล้งก็มีเพลี้ยไฟกับไรแดงแอฟริกัน เราต้องมั่นดูแลและพ่นยา 2 รอบ เพื่อทำลายวงจรของเขา ในช่วงระยะดอกปุ๋ยทางดินจะไม่ใส่ โดยจะเน้นการฉีดพ่นเข้าดอกเข้าใบและใต้ท้องกิ่งทรงพุ่ม ผลผลิตทุเรียนจะให้ราคาดีตอนต้นฤดูกับปลายฤดู และการไว้ดอกของแต่ละต้น เราต้องดูว่าปริมาณดอกรุ่นไหนเยอะเราก็ไว้รุ่นนั้นส่วนที่เหลือเราก็ตัดทิ้ง คือต้องเอาไว้รุ่นเดียวใน 1 กิ่งเพื่อง่ายต่อการดูแล ผลผลิตที่ตลาดต้องการอยู่ที่น้ำหนักผลละ 2 ถึง 5 ก.ก. คือจะติดไซส์ A B อีกอย่างการไว้ผลถ้าเราไว้น้อยเกินไปผลก็จะมีขนาดใหญ่ราคาก็จะตก เราต้องดูสภาพใบต้นทุเรียนของเรา สามารถรับน้ำหนักได้กี่กิโลกรัมต่อต้น ถ้าใบสมบูรณ์ใบเยอะใบหนาเราก็สามารถไว้ลูกได้เยอะ

ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *