กาญจนบุรี คตินิยมในการแห่ปราสาทในงานศพพระสงฆ์ ของไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี

กาญจนบุรี คตินิยมในการแห่ปราสาทในงานศพพระสงฆ์ ของไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี


วันที่ 25 มีนมคม 2567 คณะรำตงของชาวบ้านกองม่องทะ และชาวบ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ต่างพากันร่ายรำด้วยท่าทีที่อ่อนช้อย พร้อมร้องเพลงที่เป็นภาษากะเหรี่ยง ซึ่งเนื้อหาของเพลงพรรณนาถึงการอาลัยพระขิงเจ กิตติภาโร พระวัดเกาะสะเดิ่ง อายุ 87 ปี พรรษา 43 ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ประกอบกับการบรรเลงเครื่องดนตรีของวงมโหรีปี่พาทย์ ประจำหมู่บ้าน

ท่ามกลางสายตาผู้ที่มาร่วมงานสลายร่างพระขิงเจ กิตติภาโร ที่เดินทางมาจากหลายหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง
ก่อนจะต่อด้วยการรำแห่ปราสาทของคณะชาวบ้านบ้านใหม่พัฒนา ที่มีทั้งผู้รำทั้งหญิงและชายรวมกว่า 70 ชีวิต ที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี ซึ่งจะมีการแสดงให้ดูเฉพาะในงานแห่ปราสาทพระสงฆ์ ซึ่งมีให้เห็นไม่บ่อยครั้งนัก การร่ายรำของผู้รำฝ่ายหญิง ขณะที่ผู้รำที่เป็นผู้ชายจะช่วยกันแบกปราสาทบนบ่า ปราสาทยอด7ชั้น ที่สร้างด้วยไม้และไม้ไผ่ประดับประดาด้วยตุงกระดาษสา สีสันสวยงาม มีโลงศพที่บรรจุสรีระของพระผู้ล่วงลับตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของปราสาท ก่อนจะมัดโลงให้ยึดติดอยู่กับปราสาท เพื่อป้องกันโลงตกในระหว่างการแห่ปราสาท ก่อนจะนำไม้ไผ่ลำพอเหมาะ มายึดเข้ากับตัวปราสาทเพื่อใช้ในการแห่ง ปราสาทที่สูงจากฐานจนถึงปลายยอดกว่า10เมตร กว้างกว่า8เมตร น้ำหนักรวมไม่น้อยกว่า 300-400 กิโลกรัม ผู้ชายที่จะมาทำหน้าที่แห่ปราสาทจึงต้องผ่านการฝึกร่างกายให้มีความแข็งแรง รวมทั้งผ่านการซ้อมท่าร่ายรำให้มีความพร้อมเพรียง เพื่อให้การแสดงออกมาเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ชมที่นั่งล้อมวงชมการแสดงรอบๆลานวัด ตลอดระยะเวลาการแห่ปราสาทที่ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง


นายทิวา คงนานดี ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงอำเภอสังขละบุรี เล่าถึงที่มาของการรำแห่ปราสาทว่าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและอาลัย ต่อพระสงฆ์ผู้ที่ล่วงลับไป โดยเชื่อว่าการร่ายรำ ประกอบบทเพลงที่พรรณนาถึงคุณความดีสรรเสริญถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ที่ล่วงลับไป เพื่อให้ความดี กุศลบุญ และธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติมา ส่งผลบุญให้ท่านได้พบพระนิพพานตามที่ท่านมุ่งมาดปรารถนา
ซึ่งการแห่ปราสาทจะนิยมแห่กันเฉพาะกรณีที่ผู้ที่ล่วงลับเป็นพระสงฆ์ที่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป หรือพระภิกษุสงฆ์ที่ความอาวุโส ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่ให้ความเคารพของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เท่านั้น
สำหรับปราสาทที่สร้างขึ้นมาจะเป็นปราสาทที่มีจำนวนยอด 7 ชั้นสำหรับพระภิกษุทั่วไป ส่วนปราสาทยอด 9 ชั้นจะนิยมทำให้เฉพาะพระภิกษุระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป หรือเป็นพระภิกษุที่มีพรรษาสูงและเป็นที่รักใคร่ เคารพนับถือของชาวบ้านเท่านั้น
ตามคติความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงการได้มีโอกาสร่วมงานประชุมเพลิงเพื่อสลายร่างของพระภิกษุสงฆ์ นับเป็นบุญใหญ่ที่ไม่ค่อยมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยนัก เมื่อมีการจัดงานดังกล่าวขึ้นมาแม้จะอยู่ไกล หรือการเดินทางยากลำบากแค่ไหน ทุกคนก็จะหาโอกาสไปร่วมบุญให้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมจัดงาน3วัน3คืน หรือ 7 วัน 7 คืน ขึ้นอยู่กับคุณวุฒิของพระที่มรณภาพ หรือความพร้อมของญาติโยม เนื่องจากในการจัดงานจะต้องมีการเปิดโรงทานเพื่อเลี้ยงอาหารชาวบ้านหรือผู้ที่มาแสวงบุญ ตลอดเวลาของการจัดงาน
ส่วนพิธีกรรมทางสงฆ์ก็จะมีการปฏิบัติเหมือนงานบำเพ็ญกุศลศพพระสงฆ์ทั่วไปที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มาร่วมได้ร่วมทำบุญบูชาพระไตร เพื่อนำไปทอดผ้าต่อหน้าปราสาทของพระที่มรณภาพ มีการทำร่วมทำบุญดอกไม้จันท์ที่ชาวบ้านและคณะกรรมวัดได้จัดเตรียมไว้ มีการฟังพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทุกค่ำคืนตลอดงาน รวมทั้งมีการถวายจตุปัจจัยไทยทาน แด่พระภิกษุสงฆ์ที่มาสวดพระอภิธรรมเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แด่พระสงฆ์ผู้ล่วงลับ
เมื่อถึงเวลากำหนดการประชุมเพลิง ก็จะมีการเคลื่อนปราสาทไปยังพื้นที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ โดยมีการสร้างเชิงตะกอนที่มีท่อนฟืนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการสลายร่างพระสงฆ์ผู้มรณภาพ มีการกล่าวคำขอขมาต่อร่างพระสงฆ์ผู้ล่วงลับโดยกานำของผู้อาวุโสในชุมชน ก่อนจะเปิดให้พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานนำดอกไม้จันท์ไปวาง เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน จึงมีการนิมนต์พระกิตติสุวัฒนาภรณ์ (เจ้าคุณเพิ่ม)เจ้าอาวาสเทวสังฆาราม พระอารามหลวงเป็นประธานในพิธีการประชุมเพลิง


การประชุมเพลิงพระสงฆ์นิยมทำกันบริเวณพื้นที่กลางแจ้ง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงาน ได้พิจารณาธรรมจากกองเพลิงที่ลุกไหม้ร่างของพระสงฆ์ผู้ล่วงลับ เพื่อพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยง การเตรียมความพร้อมก่อนตาย ด้วยการทำความดี ละเว้นความชั่ว ดำรงตนตามปัจฉิมโอวาท( เป็นคำสอนครั้งสุดท้ายก่อนจะปรินิพพาน)ภาษาบาลี ว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” (วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ) แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เกษร เสมจันทร์ กาญจนบุรี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *