ลำปาง-สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ร่วมกับ TICA และ มช.จัดการประชุมช้างแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือไร้พรมแดน: Elephant Conservation Without Borders” ระหว่างวันที่ 26 – 28 ส.ค. นี้
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 ส.ค.2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมอาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มช.จัดการประชุมช้างแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือไร้พรมแดน: Elephant Conservation Without Borders” ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.2567 นี้ โดยมีนายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้ตรวจราชการ ทส.เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผอ.สำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ออป. คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย
ดร.น.สพ.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์และบริบาลช้าง และบุคลากรด้านสัตวแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม
นายสุรัตน์ชัย กล่าวว่า การประชุมช้างแห่งชาติครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ช้างระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการยกระดับการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพ พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของช้างเลี้ยงผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง สนับสนุนการจัดโครงการอบรมให้ความรู้ในการดูแลช้างเพื่อการยกระดับวิชาชีพควาญช้าง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลช้างผ่านการกำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพควาญช้าง จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ช้างไทย และเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้มีเวทีนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์ช้างไทยในทุกมิติ
นายสิทธิชัย กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์มากขึ้น ในช้างก็เช่นกัน มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหันมาใส่ใจและมีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของช้างเลี้ยงผ่านการบังคับใช้กฎหมายหรือโครงการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ .2557 กฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง โครงการฝึกอบรมให้ความรู้ในการดูแลช้าง วิชาชีพควาญช้าง และใช้งานช้างบ้านให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“นอกจากนี้ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์การขนย้ายช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ จากประเทศศรีลังกาเพื่อกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อช้างไทยทั้งในและต่างประเทศ เป็นวงกว้างทำให้คนไทยหันมาเอาใจใส่ รักและหวงแหนช้างไทยมากขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้ช้างไทยในต่างแดนมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพที่ดี ในการประชุมครั้งนี้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ช้างไทยจะยังคงยืนอยู่คู่กับสังคมไทยอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
.”
วินัย/ลำปาง รายงาน.