ลำปาง-เตรียมพิจารณาออกประกาศห้ามเผาในพื้นที่โล่งทุกประเภท เพื่อลดผลกระทบสุขภาพประชาชนจากปัญหา PM 2.5
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงาน ปภ.ลำปาง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง มีการประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดลำปาง(War room ระดับจังหวัด)ครั้งที่ 6/2567 โดยมีนายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุม เพื่อบูรณาการการป้องกันไฟป่าและหมอกควันของ จ.ลำปาง ตลอดจนเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน PM 2.5 ให้มากที่สุด โดยมีคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณา จัดประชุมของคณะทำงานศูนย์ทำงานติดตามสถานการณ์ War Room ระดับจังหวัด ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เพื่อติดตามสถานการณ์และการรับมือได้อย่างทันถ่วงที เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าของจังหวัดเริ่มมีความรุนแรง ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 สภาพอากาศเริ่มแห้งและเกิดความแห้งแล้งของพืชพันธุ์ประกอบกับอาจมีการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกซึ่งจะส่งผลให้มีการลักลอบเผาในที่โล่งเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ และการพิจารณาออกประกาศห้ามเผาในพื้นที่โล่งทุกประเภท และประชาสัมพันธ์ ในการใช้เสียงตามสาย การประชุมหมู่บ้านเน้นย้ำแจ้งเตือนให้ประชาชนงดเผาในที่โล่งทุกชนิด
ที่ บริเวณวัดพระพุทธบาทสุทธาวาส อ.แจ้ห่ม นายปกรณ์ กรรณวัลลี ปลัดจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายชาญ จูดคง นอภ.แจ้ห่ม ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ดอยพระบาท ต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม เมื่อวันที่ผ่านมา โดยได้มอบหมายภารกิจให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ควบคุมไฟแบบบูรณาการ โดยสถานการณ์ขณะนี้ในพื้นที่ยังมีการเผาไหม้อยู่ โดยเฉพาะบริเวณจุดหน้าผาสูงชัน โดยเจ้าหน้าที่ได้เร่งเข้าควบคุมไฟและเฝ้าระวังพื้นที่ก่อสร้างและวัดเป็นสำคัญ และเพื่อเป็นการป้องกัน
อันตรายแก่นักท่องเที่ยวและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงได้มีการปิดบริการเข้าชมวัดเป็นการชั่วคราวในระหว่างวันที่ 22-23 ก.พ. 2567 นี้
ด้านนายชาญยุทธ์ คำวรรณ์ รอง สสจ.ลำปาง เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐาน ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี ปัจจุบันปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของ จ.ลำปาง มีค่าเกินมาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม.ระดับสีส้ม (เริ่มมีผลกระทบสุขภาพ) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 ก.พ. 2567 จำนวน 34 วัน และมีค่าสูงเกิน 75 มคก./ลบ.ม.ระดับสีแดง (มีผลกระทบสุขภาพ) ติดต่อกัน 4 วันตั้งแต่วันที่ 16-19 ก.พ.2567 และแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น
จากการเฝ้าระวังผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตา และโรคผิวหนัง พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 ก.พ.ของปี 2566 – 2567 ไม่พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 พบจำนวนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาใน รพ.ด้วยโรคที่เฝ้าระวัง จำนวน 5,532 ครั้ง และปี 2567 จำนวน 6,252 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.02 พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิงกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดได้แก่ กลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 65-69 ปี มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ รพ.ทุกแห่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 เปิดคลินิกมลพิษและคลินิกมลพิษออนไลน์ ใน รพ.ทุกแห่ง ส่งเสริมให้มีการเตรียมห้องปลอดฝุ่น (Clean Room)สถานที่ทำงานภาครัฐ เอกชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน สถานประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟและอื่นๆ เพื่อรับสติ๊กเกอร์ “ห้องปลอดฝุ่นจังหวัดลำปาง”
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
ประจำวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 12:00 น สรุปดังนี้ในภาคเหนือ ภาพรวมปริมาณ PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก และ จ. กำแพงเพชร โดยภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 15 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 14.5 – 61.8 มคก./ลบ.ม. สถานการณ์ค่า PM2.5 ในพื้นที่ จ.ลำปาง ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง วัดได้ 75.4 มคก./ลบ.ม.มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ วัดได้ 45.0 มคก./ลบ.ม. ที่ ต.แม่เมาะ วัดได้ 46.1 มคก./ลบ.ม.และที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ค่า PM2.5 วัดได้ 47.6 มคก./ลบ.ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ.
วินัย/ลำปาง รายงาน