นครพนม- พบรอยร้าว “พระธาตุโนนตาล” ทั้งองค์ กรมศิลปากรหวั่นซ้ำรอย “พระธาตุพนมล้ม” รุดป้องกันและเร่งบูรณะ อดีตผญบ.เผยเหตุปริแยกมีหลายปัจจัย
*****
กรณี พบรอยร้าวปริแยกรอบองค์พระธาตุโนนตาล ริมทางหลวงชนบท นพ.3014 สายท่าอุเทน-รามราช ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุ หมู่ 9 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยอยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ถือเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน ที่มีหลักฐานกล่าวถึงประวัติว่าก่อสร้างเมื่อปี 2445 นับถึงปัจจุบันพระธาตุโนนตาลมีอายุถึง 121 ปี
หลังพบรอยปริแยก วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมนำอุปกรณ์เหล็กแบนและลวดสลิง ดำเนินการรัดรอบองค์พระธาตุ เพื่อป้องกันรอยร้าวเพิ่มมากขึ้น และเตรียมบูรณะให้กลับมามีสภาพดังเดิม
ล่าสุด วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลาประมาณ 10.30 น. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังวัดพระธาตุ ซึ่งมีชาวบ้านสูงวัยทั้งชายหญิง กำลังเตรียมภัตตาหารถวายเพลแก่พระภิกษุ จึงทราบประวัติพระธาตุโนนตาลคร่าวๆ จากคำบอกเล่าของนายทุ่น บุตตะ อายุ 87 ปี อดีตมัคนายกวัด ว่า เกิดมาก็เห็นองค์พระธาตุแล้ว โดยบรรพบุรุษคือพ่อแม่พี่น้อง มีส่วนร่วมในการบูรณะ เนื่องจากพระธาตุองค์เดิมทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่นายทุ่นมีภาวะหูตึงจึงสื่อสารกันลำบาก ชาวบ้านเลยไปเรียกนายกิติพงษ์ ศิริญาต อายุ 65 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านธาตุ หมู่ 9 ต.โนนตาล มาให้รายละเอียดเพิ่มเติม
นายกิติพงษ์เปิดเผยว่า จากบันทึกระบุถึงชุมชนบ้านธาตุ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2404 โดยบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองท่าอุเทน และประมาณปี 2420 ชาวบ้านได้ค้นพบซากโบราณวัตถุคือเจดีย์ขนาดเล็ก ที่มีป่าไม้ล้อมรอบ จึงช่วยกันถากถางรอบบริเวณที่พบ ต่อมาปี 2454 หลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปันโน ได้สร้างพระธาตุท่าอุเทนขึ้น จึงขอแรงชาวบ้านละแวกใกล้เคียง รวมถึงคนในชุมชนบ้านธาตุไปร่วมสร้างแล้วเสร็จในปี 2459
จากนั้นพ่อเฒ่าอั้ง เป็นชาวบ้านกะเสิม หมู่ 6 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ในปัจจุบัน ได้ชักชวนชาวชุมชนบ้านธาตุ บูรณะซากองค์พระธาตุเพิ่มเติมจากของเก่าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ปรากฏว่าพ่อเฒ่าอั้งได้หนีหายไป โดยไม่ทราบสาเหตุ กระทั่งถึงปี 2480 หลวงพ่อผง สุวรณมาโจ ได้เป็นประธานบูรณะ ร่วมกับหลวงพ่อภู วรธัมโม และ หลวงพ่อบล จันทิโย โดยมีพระครูอุเทนธรรมพิทักษ์ (จูม ธัมมิโก) เป็นผู้ตัดถนนเข้าสู่บริเวณวัด ดังนั้นญาติโยมและชาวบ้านทั้งในบ้านธาตุและหมู่บ้านใกล้เคียง ได้พร้อมใจกันบูรณะด้วยการสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบซากองค์เก่า มีขนาดความสูง 36 เมตร รอบฐานกว้างด้านละ 7 เมตร 50 เซนติเมตร พร้อมกันนี้ได้สร้างสิมเพิ่มเติม จนแล้วเสร็จในปี 2486
อดีตผู้ใหญ่บ้านเล่าต่อว่า กรณีองค์พระธาตุเกิดรอยร้าว มีปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ความชื้นที่อยู่ใต้ฐานจากการสะสมของน้ำฝน โดยไม่มีช่องระบายอากาศเหมือนการสร้างพระธาตุในปัจจุบัน ทำให้ดินใต้ฐานเกิดการยุบตัว และอีกปัจจัยหนึ่งคือ พระธาตุโนนตาลตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงชนบท นพ.3014 ถือเป็นเส้นเลี่ยงเมือง โดยเฉพาะรถบรรทุกหนัก นิยมใช้ถนนเส้นนี้เพื่อเลี่ยงการจราจรถนนสายหลัก ด้วยน้ำหนักที่บรรทุกอาจสะเทือนไปถึงองค์พระธาตุ จึงเกิดรอยปริแยกรอบองค์ หากสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ไม่เร่งซ่อมแซมโอกาสที่พระธาตุโนนตาลจะพังถล่มลงมา ซ้ำรอยพระธาตุพนมล่มเมื่อปี 2518 มีสูงมาก
ทั้งนี้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมพระธาตุโนนตาล เป็นเจดีย์ทรงมณฑป ยอดบัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนมระยะก่อนที่จะมีการบูรณะในปี 2483 สร้างก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ประกอบด้วยห้องมณฑปซ้อนกันสองชั้น ในตอนกลางแต่ละด้านของแต่ละชั้น เป็นซุ้มประตูเลียนแบบพระธาตุพนม บริเวณมุมส่วนมณฑปประดับปูนปั้นรูปบุคคลขี่สัตว์พาหนะ เหนือมณฑปเป็นฐานบัวทองไม้ลูกฟักในผังสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่ แต่งลายปูนปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงกัน ตอนกลางแต่ละด้านเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านหน้าปิดไว้ด้วยกระจกใส เหนือขึ้นไปเป็นชั้นบัวสี่เหลี่ยม ตกแต่งด้วยปูนปั้นลายดอกลอย สลับกับการประดับกระจกสี่เหลี่ยม ปลียอดเป็นบัวสี่เหลี่ยมประดับยอดฉัตร
ส่วนสิมเป็นภาษาอีสาน มาจากคำว่าสีมา สิมมา หรือพัทธสีมา มีความหมายเดียวกับโบสถ์ หรืออุโบสถทางภาคกลางของไทย โดยสิมตั้งอยู่หน้าองค์พระธาตุโนนตาล ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นพื้นถิ่นอีสาน ภายในสิมประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนทาสีทอง ประทับนั่งปางมารวิชัย จำนวน 3 องค์ โดยนายกิติพงษ์ ศิริญาต อดีตผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่าในการค้นพบซากพระธาตุในครั้งนั้น ก็มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งฝังอยู่ในดินรวมอยู่ด้วย ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันสร้างสิมครอบองค์พระ แล้วปั้นพระพุทธรูปขึ้นมาใหม่รวม 3 องค์ โดยมีกุศโลบายให้องค์พระหันหน้าไปทางทิศเหนือ หันหลังให้องค์พระธาตุ ถ้าญาติโยมมากราบไหว้พระประธานในสิม เวลากราบก็จะได้กราบองค์พระธาตุไปในตัวด้วย
ทั้งนี้ โบราณสถานแห่งนี้ ประกอบด้วย พระธาตุโนนตาล และ สิม กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะครั้งหลังสุดในปี 2561 ดังนั้นทางสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ได้ประกาศห้ามผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถาน โดยมีความผิดตามกฎหมาย
//ภาพ-ข่าว//พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล//นครพนม (061-2838566)