ร้องสื่อสร้างฝายแต่ไม่ได้เงินค่าจ้าง

ร้องสื่อสร้างฝายแต่ไม่ได้เงินค่าจ้าง

ผู้ใหญ่บ้านห้วยนา หมู่ 5 ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ร้องสื่อหลังได้รับจ้างให้ก่อสร้างฝาย ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมเพื่อลดฝุ่นควัน จากเจ้าหน้าที่ในสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน แต่เมื่อก่อสร้างฝายเสร็จแล้วกลับไม่ได้รับเงินค่าจ้างส่งผลกระทบต่อตนเองและลูกบ้านที่ยากจนเหมือนทำงานฟรีวอนสื่อกระทุ้งให้ผู้รับผิดชอบออกมาชนใช้เงินค่าจ้างเป็นการด่วน

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายศุภมิตร อมรอาจหาญ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยนา อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 85 หมู่ 5 บ. ห้วยนา ต. แม่เงา อ. ขุนยวม จ. แม่ฮ่องสอน ได้ร้องเรียนต่อสื่อว่า เมื่อเดือนเมษายน 2566 ได้มีเจ้าหน้าที่ ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ได้มาติดต่อขอให้ก่อสร้างฝายกั้นน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 6 ฝาย ประกอบด้วยฝายกึ่งถาวร จำนวน 4 ฝาย และฝายถาวร จำนวน 2 ฝาย โดยฝายถาวรให้ราคา ฝายละ 39,000 บาท ส่วนฝายกึ่งถาวร ให้ราคาฝายละ 18,000 บาท ปัญหาคือ ทางหน่วยงานป่าไม้จ่ายเงินมาไม่ครบ คือค้างฝายถาวร 2 ฝายที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน เป็นเงิน 78,000 บาท ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคือทางหน่วยงานป่าไม้รับปากว่าจะจ้างชาวบ้านวันละ 300 บาท โดยทางผู้ใหญ่บ้านก็กระจายให้คนในชุมชนผลัดเปลี่ยนมารับจ้างทำฝาย เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวผ่านมา 7 เดือนแล้ว ทุกคนยังไม่ได้เงินจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้แต่อย่างใด

นายศุภมิตร อมรอาจหาญ เปิดเผยต่อไปว่า ตนได้เดินทางเข้าจังหวัดไปที่ศาลากลางจังหวัดและสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน หลายครั้งแต่ก็ได้รับคำตอบว่าให้รอไปก่อนแล้วจะดำเนินการให้ แต่ก็ล่วงเลยไปถึง 7 เดือนแล้วก็ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด จนต้องร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเพื่อให้เป็นกระบอกเสียงอีกทางหนึ่งเพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ตนโดยเร็ว

สำหรับโครงการดังกล่าว จากสัญญาเลขที่ 153/2566 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ลงวันที่ 16 มีนาคม 2566 ระหว่าง สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แห่งหนึ่งในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นร้านก๊อปปี้และถ่ายเอกสาร ผู้ว่าจ้างตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างทำงาน จ้างเหมาโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมเพื่อลดฝุ่นควัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ณ ท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตำบล/แขวง จองคำ อำเภอ/เขต เมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัด แม่ฮ่องสอน ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายและผู้รับจ้างตกลงรับเงินค่าจ้างจำนวนเงิน 11,118,060 บาท (สิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นแปดพันหกสิบบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 727,349.72 บาท (เจ็ดแสนสองหมื่นเจ็ดพันสามร้อยสี่สิบเก้าบาทเจ็ดสิบสองสตางค์)

ซึ่งพบว่า มีผู้นำท้องถิ่นจำนวนมากที่ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ในสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ให้ดำเนินการก่อสร้างฝายดังกล่าว ทุกพื้นที่และทุกคนได้รับค่าจ้างไม่ตรงกับที่ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ฯ ได้มีการทำสัญญากับเอกชนในการก่อสร้างฝายแต่อย่างใด

อดีตเป็นพนักงานสาวในสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันถูกจำคุก คดีฉ้อโกงจัดซื้ออุปกรณ์อิเลคทรอนิคของสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ ฯ ก่อนที่จะถูกศาลตัดสินจำคุก ได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า ขอให้ตรวจสอบโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมเพื่อลดฝุ่นควัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ที่ได้รับงบประมาณจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าฯโครงการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในด้านการจ้างงานโดยให้ร้านคู่ค้าที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยมาทำการอิบิ้ดดิ้งเสนอราคาให้ต่ำสุดเพื่อหวังจะได้งานนี้ และให้เจ้าหน้าที่พัสดุในสำนักงานเป็นคนเสนอราคาและทำเอกสารให้ทั้งหมด ซึ่งห้างหุ้นส่วนคู่ค้าไม่มีความชำนาญการในงานด้านการก่อสร้างและไม่มีเคยมีประสบการณ์ในด้านนี้ ซึ่งร้านคู่ค้าได้ทำการเบิกจ่ายงบประมาณออกไปแล้วหลายงวดงาน งานที่ได้ออกมาไม่ได้เป็นตามแบบแปลนหรือสเปกงานตามรายละเอียดคุณลักษณะงาน และได้จ้างผู้ใหญ่บ้านในท้องที่จัดทำฝายแบบถาวรและแบบกึ่งถาวรทำโดยให้ชาวบ้านเป็นคนทำโดยอ้างว่าเป็นการสนับสนุนการทำฝายของสำนักฯเพื่อชุมชน ซึ่งความเป็นจริงเงินงบประมาณเป็นการจ้างห้างหุ้นคู่ค้าไปดำเนินการงานเอง

แต่การดำเนินการในครั้งนี้ห้างหุ้นส่วนคู่ค้าไม่ได้ไปดำเนินการเองแต่อย่างใด โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน เป็นผู้ดำเนินการเอาเงินไปให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละท้องที่ที่มีการทำฝายฯ จัดทำฝายเองโดยอาศัยให้ลูกบ้านเป็นคนทำโดนอ้างว่าได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักฯ จำนวนเงิน 10,000-30,000 บาท เพื่อทำฝายในท้องที่ตัวเอง แต่ความเป็นจริงงบประมาณที่ให้ห้างคู่ค้าได้รับงบประมาณจากการเสนอฝายถาวร ตัวละ 70,000 บาท และฝายกึ่งถาวรตัวละ 35,000 บาท แต่ราคาที่ชาวบ้านได้รับ ไม่เป็นไปตามงบประมาณที่ได้มา และไม่มีช่างผู้ควบคุมงานไปตรวจสอบทำรายงานช่างหรือรายงานรายวัน และจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่ได้มีการการไปตรวจสอบว่าทำงานจริงหรือเปล่า และไม่มีรูปคู่ค้าไม่ที่ปรากฏรูปภายในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จึงขอใช้สื่อเป็นตัวกลางในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย

“ได้นำเรื่องดังกล่าวเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เรื่องการทุจริตดังกล่าว ตนได้ทำการส่งข้อมูลเอกสารทั้งหมด ให้แก่เจ้าหน้าที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ปปช.) ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปแล้วด้วย ซึ่งคาดหวังไว้ว่าเรื่องดังกล่าว ทาง สำนักงาน ปปช.แม่ฮ่องสอน จะดำเนินนำตัวคนกระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว”
————————————
ทศพล / แม่ฮ่องสอน/รายงาน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *