“รมช.ไชยา” ไฟแรง เร่งแก้ปัญหาวัคซีนสัตว์ ลุยตรวจโรงงานผลิตของกรมปศุสัตว์ที่ปากช่อง สั่งเดินตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”มุ่งผลิตให้พอ พร้อมส่งออก

“รมช.ไชยา” ไฟแรง เร่งแก้ปัญหาวัคซีนสัตว์ ลุยตรวจโรงงานผลิตของกรมปศุสัตว์ที่ปากช่อง สั่งเดินตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”มุ่งผลิตให้พอ พร้อมส่งออก

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.66 เวลา 10.00 น.นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดลพบุรี โดยได้เดินทางไปยังสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบนโยบาย และแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านปศุสัตว์ ให้แก่คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ พร้อมรับฟังการบรรยายภาพรวมการผลิตวัคซีนสัตว์ และเยี่ยมชมโรงงานผลิตวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย และวัคซีนสัตว์ปีกของสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ โดยมีนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม จากนั้นได้เดินทางไปยัง สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของสหกรณ์ และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพสระบุรี

นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเด็นปัญหาโรคระบาดในสัตว์ ถือเป็นปัญหาที่ตนเองมีความตั้งใจการแก้ไขให้สำเร็จ เพื่อสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย ตามนโยบายด้านเกษตรกรรม “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”ของรัฐบาล ภายใต้การนำ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกทั้งปัญหาโรคระบาดสัตว์ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อย โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญที่จะดำเนินการ คือ การเร่งผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้เพียงพอ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการในการศึกษาเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์ ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีความอยู่ดีกินดี และยั่งยืน และเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

“สำหรับกรมปศุสัตว์ ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ มีบุคลากรที่มีความชำนาญในการผลิตวัคซีนป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ จึงได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นคงทางวัคซีนสำหรับสัตว์ของประเทศไทยโดยเฉพาะวัคซีนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และวัคซีนโรคลัมปี สกินในโค-กระบือ ซึ่งถือเป็นโรคระบาดสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร และเพื่อให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการใช้สำหรับการควบคุมและป้องกันภายในประเทศ รวมถึงสัตว์นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน”

“นับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพราะการที่กรมปศุสัตว์สามารถผลิตวัคซีนที่จำเป็นได้เอง และเพียงพอ จะสร้างประโยชน์ต่ออาชีพอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของประเทศ นอกจากช่วยทำให้เกิดความสามารถในการป้องกันและกำจัดโรคสัตว์ได้อย่างถาวรในอนาคตแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียเงินตราของประเทศ จากที่ต้องมีการนำเข้าวัคซีน อย่างในกรณีที่กรมปศุสัตว์ ผลิตวัคซีนโรคลัมปี สกิน เองได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้กว่าปีละ 280 ล้านบาท และที่สำคัญอีกประการ ยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อีกด้วย ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งก้าวสู่การเป็น HUB ทางด้านวัคซีนปศุสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การยกระดับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์ จึงเป็นอีกนโยบายสำคัญที่ตนได้มอบหมายให้ดำเนินการ และจะติดตามให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด” นายไชยา กล่าว

/////////////////////////////

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *