#นายก อบจ.นครสวรรค์ลุยเองลงแปลงนาข้าวทดลองและเกี่ยวข้าวที่ต.วังม้า นาข้าวสมาชิกเครือข่าย รร.ชาวนาฯ ที่ประสบความสำเร็จ#

#นายก อบจ.นครสวรรค์ลุยเองลงแปลงนาข้าวทดลองและเกี่ยวข้าวที่ต.วังม้า นาข้าวสมาชิกเครือข่าย รร.ชาวนาฯ ที่ประสบความสำเร็จ#

วันที่ 7 กันยายน 2566 พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายอรรถพร แรงกสิกร ส.อบจ. เขตอำเภอลาดยาว นางทัศวลี ผึ้งสีใส หัวหน้าฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รก.หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสวัสดิการสังคม และผู้นำชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมแปลงนาของ นางบังอร แสนเมืองโคตร สมาชิกเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ ณ วิสาหกิจชุมชนสรรเกษตร ต.วังม้า อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ โดยมี นายนพดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ นำลงพื้นที่

เดิมแปลงนาของ นางบังอร แสนเมืองโคตร เป็นแปลงนาอินทรีย์ ปลอดสาร นางบังอรต้องการเรียนรู้การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพ จึงได้ไปเรียนรู้การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามโครงการพัฒนาเกษตรกรและพัฒนาพันธุ์ข้าว จังหวัดนครสวรรค์ ที่ อบจ.นครสวรรค์ ร่วมกับ มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นที่ผ่านมา จึงนำความรู้ที่ได้มาทดลองขยายพันธุ์ข้าวเอง

โดยนางบังอร นำสายพันธุ์ขาวเกยไชย ซึ่งมีลักษณะเรียว ยาว มีหาง มาขยายพันธุ์ออกมาเป็นสายพันธุ์ช่อราตรี ซึ่งมีลักษณะที่อวบอ้วนกว่า ได้ปริมาณที่มากกว่า แปลงแรกที่ทดลองปลูกเมื่อเกี่ยวแล้วได้ประมาณ 50 ถัง จากเดิมที่จำหน่ายถังละ 250 บาท สามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นเป็นถังละ 300 บาท โดยที่ผู้บริโภคก็ยอมจ่ายเพราะได้ข้าวมีคุณภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นการทดลองขยายสายพันธุ์ข้าวครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ราคาขายเพิ่มมากขึ้น ตอบโจทย์กับความต้องการทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า “ปัจจุบันถ้าเราไม่พัฒนา อนาคตเราจะอยู่ยาก เพราะผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการกินสูงมาก ถ้าหากว่าอาหารที่มาจากวัตถุดิบอะไรก็แล้วแต่ เมื่อไม่ได้รับการพัฒนา ก็เข้าสู่ตลาดไม่ได้ ข้าวก็เหมือนกัน เมื่อก่อนคนกินเพื่อให้อิ่มท้อง แต่สมัยนี้คนระวังกันเยอะ ข้าวต้องไม่ทำลายสุขภาพ ไม่ปนเปื้อน จึงต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ซึ่งวิชานี้สำคัญมาก ผมจึงอยากให้ชาวนาได้ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว ศึกษาองค์ประกอบ ผสมสายพันธุ์ข้าวที่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ รวมทั้งต้องมีการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเสร้างมูลค่าเพิ่ม”

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ นายก อบจ. ได้ทดลองเกี่ยวข้าว มีกลุ่มชาวนามาร่วมลงแขก และชมสาธิตการสีข้าวจากเครื่องฝัดข้าวที่ชาวบ้านทำเอง จากนั้นได้ล้อมวงพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ รับฟังสภาพปัญหากับชาวนา ในเรื่อง การเชิญชวนชาวบ้านมาทำข้าวอินทรีย์, การเปลี่ยนวิธีคิดว่าจะทำยังไงให้ได้ข้าว “ถ้าเราได้ข้าว ก็ได้เงิน”, การเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ชาวบ้านอยากให้พัฒนาเป็นรายครัวเรือนมากกว่าที่พัฒนาร่วมกัน, อธิบายเรื่องโคกหนองนา, การดูแลเครื่องมือ การประเมินผลลัพธ์ของสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนชาวนา, การวางแผนแปรรูปข้าว เข้าสู่ตลาดทั้งระบบใหม่ และระบบเก่า, รายได้ 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อที่อย่างน้อยชาวบ้านต้องมีรายได้นำไปใช้หนี้และอยู่รอด และการจัดทำโครงการให้ความรู้ในรูปแบบที่นำนักวิชาการลงพื้นที่ แทนที่ชาวบ้านต้องเดินทางไป เพื่อเห็นพื้นที่จริง สภาพแวดล้อมจริง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *