พังงา- ปภ.พังงาร่วมกับศรชลภาคที่3ร่วมเก็บกู้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันที่หลุดออกจากตำแหน่งได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิที่ได้ติดตั้งในทะเลอันดามัน (ตัวใกล้) สถานี 23461 ใกล้กับหมู่เกาะสิมิลัน อ.คุระบุรี จ.พังงา ไม่รายงานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงความดันน้ำ ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 และตรวจสอบพบว่าทุ่นได้เคลื่อนที่ออกจากจุดติดตั้ง ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) และทัพเรือภาคที่ 3 นำเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ออกเดินทางจากท่าเรือฐานทัพเรือพังงา เพื่อเก็บกู้ทุ่น ที่หลุดออกจากตำแหน่งที่ติดตั้ง ซึ่งการออกไปเก็บกู้ต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องเรือ และพิจารณาสภาพอากาศและท้องทะเลที่ปลอดภัย โดยได้ออกเดินทางในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30 น. โดยได้ติดตามตามพิกัด GPS ของทุ่นที่ส่งสัญญาณ และในเวลา 14.20 น. เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ได้พบ ทุ่นฯ อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร (16 ไมล์ทะเล) และได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิเป็นที่เรียบร้อย โดยเรือได้เดินทางกลับและถึงท่าเรือฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ในวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2566 เวลา และได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา เพื่อหาสาเหตุและข้อเท็จจริงของการหลุดและทำการบำรุงรักษาต่อไป
นายสงบ สะโตน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า จากการที่ตรวจพบความผิดปกติในกรณีที่ทุ่นไม่ส่งสัญญานนั้น ในกรณีไม่ส่งสัญญาณชั่วคราว อาจเกิดจากสัญญาณดาวเทียมขัดข้อง คลื่นมรสุม หรือพลังงานไม่เสถียร ทำให้รับ – ส่งข้อมูลไม่ได้ ในกรณีไม่ส่งสัญญาณถาวร เกิดจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ติดตั้งเดิม แต่เกิดการชำรุดกับอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ เช่น ระบบพลังงาน ระบบสื่อสาร อุปกรณ์บันทึกข้อมูล ทุ่นลอย (Surface Buoy) ของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ หลุดออกจากการยึดโยงของสมอ และห่างจากรัศมีการส่งสัญญาณ (watch circle) กับชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล (Bottom Pressure Recorder :BPR) เกิน 2 กิโลเมตร ทำให้ไม่สามารถรับ – ส่งสัญญาณได้ หลังจากนี้ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการซ่อมแซมให้เป็นที่เรียบร้อย ก่อนจะนำกลับไปติดตั้งยังพิกัดเดิมต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังคงปฏิบัติภารกิจการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสึนามิตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure : SOP) ด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งนำข้อมูลจากต่างประเทศมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการเกิดสึนามิ ติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจะเกิดสึนามิอย่างรอบด้านบนฐานข้อมูลเชิงวิชาการ รวมถึงได้มีการวางระบบเตือนภัยสึนามิให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่เสี่ยงภัย
ซึ่งสามารถกระจายข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนสึนามิได้แม่นยำผ่านหลากหลายช่องทางให้เข้าถึงระดับพื้นที่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยสึนามิได้อย่างทันท่วงที