จากเมล็ดพันธุ์สู่รวงข้าว เรื่องราวเบื้องหลังความอิ่มท้องสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
นายอำเภอพนม นำทีมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่และท้องถิ่น และ 7 ภาคีเครือข่ายการพัฒนา ร่วมส่งเสริม”ประเพณีออกปากเก็บข้าวบ้านเบญจา (เอามื้อสามัคคี)“ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สู่การปฏิบัติในการ ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ภายใต้กรอบแนวคิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น “ปรับเปลี่ยนดี ชีวีมีสุข” (Change for 5G)
โดยในวันนี้ นายสุเชาว์ ทูโมสิก นายอำเภอพนม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการอำเภอ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้กำกับการสถานีตำรวจอำเภอพนม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพลูเถื่อน เครือข่ายโคก หนอง นา อำเภอพนม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักเรียน ประชาชนนพื้นที่ และ 7 ภาคีเครือข่ายการพัฒนา ร่วมกิจกรรมเก็บข้าวไร่ และกิจกรรมเสวนาน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร โดยมีพระครูคีรี เขมคุณ เจ้าคณะตำบลคลองศก ร่วมเสวนา ถอดบทเรียนจากแปลงนา สู่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เครือข่ายโคกหนองนา ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ด้านเกษตรกรรม การปลูกข้าวไร่ และได้นำไปประยุกต์ทำในพื้นที่ตามความเหมาะสม “เชื่อมโยงการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ปรับเปลี่ยนดี ชีวีมีสุข” (Change for 5G) ผ่านการขับเคลื่อน 5 กระบวนงาน ประกอบด้วย 1) GOOD & FOOD SECURITY ขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงทางอาหาร 2) GIVE & SHARE : เพื่อการให้และแบ่งปัน 3) GLOBAL & ENVIRONMENT : เพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม 4) GROUP & ACTION LEARNING CENTER : เพื่อการรวมกลุ่มและเรียนรู้เชิงปฏิบัติจากจุดศูนย์กลาง 5) GENERATIONS : เพื่อการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น
“ประเพณีออกปากเก็บข้าว” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมภาคใต้ที่สะท้อนถึงความร่วมแรงร่วมใจ และวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรมไทย ข้าวเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยมาช้านาน ข้าวที่ได้จากการครอบครัว แต่ยังเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยในวันนี้ได้ร่วมกันเก็บข้าวในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้าวสังข์หยด พันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เป็นข้าวไร่ ที่ปลูกในพื้นที่สูง ดินแห้งไม่ได้อุ้มน้ำเหมือนนาข้าว เกษตรกรบ้านเบญจา เลือกปลูกข้าวไร่ เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวน้ำผึ้ง เพราะข้าวไร่ทนแล้งได้ดี และปรับตัวกับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ รอบการปลูกสั้นกว่าข้าวนา โดยเฉลี่ยใช้เวลา 150 วัน และไม่ต้องใช้เครื่องจักรหรือระบบชลประทาน ลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการเพาะปลูก พันธุ์ข้าวไร่ 1 ถังให้ผลผลิต 80-90 ถัง
สำหรับการเก็บข้าวในวันนี้ เต็มไปด้วยความสุข และเสียงหัวเราะ การร้องเพลงพื้นบ้าน หรือการพูดคุยอย่างเป็นกันเองสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านเบญจาและพื้นที่อำเภอพนม ที่คอยช่วยเหลือแบ่งปันด้วยความสามัคคีในชุมชน การปลูกข้าวไร่ไว้รับประทานเองในครัวเรือน นอกจากประหยัดค่าใช้จ่าย ยังสามารถมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากสารเคมี อุดมไปด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ประเพณีออกปากเก็บข้าวยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่สมดุลกับธรรมชาติอย่างแท้จริง แม้ว่าประเพณีดังกล่าวจะลดน้อยลงในบางพื้นที่ แต่ยังคงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความงดงามของการอยู่ร่วมกันในชุมชนที่มีคุณค่า ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนในชุมชน
ติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์
#คมชัด AEC TV ออนไลน์
#ข่าวนคร AEC TV ออนไลน์