ประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือด โลกรวน
คาร์บอนเครดิต คืออะไร คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บ ได้จากการดําเนินโครงการคาร์บอนเครดิต สำหรับประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ที่กำกับและดูแลโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ อบก. ให้การรับรอง จะเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” สามารถนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน และใช้ในกิจกรรมการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เมื่อได้รับรองผลการลดก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจึงจะสามารถนำคาร์บอนเครดิตนี้ไปขายในตลาดคาร์บอนได้
โดยผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่ เป็นบริษัทหรือบุคคลที่ทำ CSR ซื้อคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutral ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ การจัดประชุม/สัมมนา หรืองาน อีเวนต์ และระดับบุคคล ส่วนผู้ขายหรือผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก จะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชน สาขาการผลิต/บริการใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจในการเข้าร่วมทำโครงการของผู้พัฒนาโครงการ
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการ ซื้อขาย Carbon Credit โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือด โลกรวน เพราะภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกปี เช่นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น การส่งเสริมคาร์บอนเครดิตจึงถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
จากภัยพิบัติทั้ง พายุหมุนเขตร้อน อุทกภัยและดินโคลนถล่มทางภาคเหนือของไทย และในหลายประเทศทั่วโลก ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์ว่าโลกกำลังเข้าสู่ “ภาวะโลกรวน” โดยสาเหตุหลักเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ประเทศไทย มีการดำเนินการในการแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความสมัครใจ ซึ่งไทยก็มีพันธกิจในการส่งเสริมการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและตลาดคาร์บอนในประเทศ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลปัจจุบัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีฯ ต่อรัฐสภาเมื่อเดือนกันยายน 2567 โดยได้กล่าวถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมว่า จะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขาย Carbon Credit นอกจากนี้แล้ว นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025 ที่อาเซียนต้องร่วมกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกเดือดให้ได้ เพราะภัยธรรมชาติ จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
ก๊าซเรือนกระจก คือ กลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกที่สามารถกักเก็บและดูดกลืนคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟราเรด ที่ส่งผ่านลงมายังพื้นผิวโลกจากดวงอาทิตย์ได้ดี ก่อนทำการปลดปล่อยพลังงานดังกล่าวออกมาในรูปของความร้อน ซึ่งทำให้โลกเกิด “ภาวะเรือนกระจก” ที่สามารถช่วยรักษาสมดุลของอุณหภูมิพื้นผิวดาวเคราะห์ไว้ได้ แต่ในปัจจุบันมีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินสมดุล ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อนได้ดี พื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศ จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตพื้นผิวโลก โดยก๊าซเรือนกระจกมี 7 ชนิดได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุด , ก๊าซมีเทน ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเป็นอันดับ 2 , ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภาวะเรือนกระจกได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 260 เท่า , กลุ่มก๊าซฟลูออริเนต มีคุณสมบัติกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันเท่า , ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ใช้เป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และใช้ในการดับเพลิง , ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ใช้ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ใช้ในภาคอุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมแมกนีเซียม
นางสาวสายรุ้ง ธรรมมี
รายงาน จังหวัดแพร่
ติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์
#คมชัด AEC TV ออนไลน์
#ข่าวนคร AEC TV ออนไลน์