กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งเน้นการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร โดยใช้งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนตามแนวทาง 3R Model ซึ่งประกอบด้วย
1.Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชแบบไม่เผา
2.Replace with High Value Crops : เปลี่ยนชนิดและวิถีการปลูกพืชบนพื้นที่สูง
3.Replace with Alternate Crops : เปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชบนพื้นที่ราบโดยเน้นการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ผ่านการจัดงานรณรงค์ ประชาสัมพันธ์
สร้างการรับรู้ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ การนำแนวทาง 3R Model มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานควบคู่ไปกับการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากการบริหารจัดการเศษวัสดุและจัดการแปลงที่ปลอดการเผา สู่มาตรฐาน GAP เพื่อสร้างสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการเข้าร่วมเสวนาเชิงวิชาการนำเสนอประเด็นเรื่อง
“เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ” ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของการเผาในพื้นที่การเกษตร
ในหลาย ๆ มิติ ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร
อย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ณ อุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
จากการดำเนินงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อน
งานลดการเผาในพื้นที่เกษตร อาทิ จังหวัดเชียงราย “Chiang Rai Zero Burn Model” ได้รับรางวัลเลิศรัฐ
ปี 2567 ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม โดยการจัดการฟางข้าวแบบปลอดการเผาด้วยการส่งเสริมการอัดฟางและไถกลบ สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนแก่ชุมชน และจังหวัดพิษณุโลก
ดำเนินกิจกรรม “ฟางทองคำ ลด PM2.5 เพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืน” ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ลดการเผาตอซังข้าว ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างรายได้จากการอัดฟางข้าวจำหน่าย เกษตรกรในพื้นที่
มีการรวมตัวก่อตั้งชมรมฟางอัดก้อนพิษณุโลกและจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนฟางอัดก้อนพิษณุโลก เพื่อส่งเสริมการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์และรวบรวมเพื่อการค้า โดยได้ทำสัญญาซื้อขายฟางก้อน จำนวน
9 แสนก้อน มูลค่ารวม 18 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และจังหวัดเชียงใหม่ “โครงการแม่แจ่มโมเดล” หมู่บ้านนำร่องปลอดการเผาในพื้นที่เกษตรที่ช่วยแก้ปัญหาการถูกชะล้างของหน้าดินบนพื้นที่สูง
อันเกิดจากการปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสานที่มีตลาดรองรับ ซึ่งช่วยยับยั้งการบุกรุกป่า ลดปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาไร่ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
โดยนายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ยังดำเนินการลดการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการทำเกษตรแบบปลอดการเผา มุ่งสร้างจิตสำนึกให้แก่เกษตรกรในระยะยาว รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เพื่อเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป