พิษณุโลก ผู้ว่าฯ พิษณุโลก เรียก 33 อปท. เร่งแก้ปัญหาการจัดการขยะ หลังจากมีมติ 6 มาตรการ สั่งทุก อปท.สื่อสารสร้างการรับรู้ประชาชนในพื้นที่ พร้อมเชิญชวนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดปริมาณขยะแก้ปัญหาระยะยาว
วันนี้ (2 กันยายน 2567) เวลา 13.30 น. ณ ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เรียกประชุมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 32 แห่ง และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ด่วน หลังจากเกิดวิกฤติปัญหาขยะในพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ได้มีการประชาคมผู้ได้รับผลกระทบโดยรอบบ่อขยะ ตำบลปากโทก ณ ศาลาการเปรียญวัดบ่อทองคำ ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก จากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากบ่อฝังกลบขยะของบริษัท ไทมีดีเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด ตำบลปากโทก อำเภอเมืองพิษณุโลก ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 3/2567 ได้พิจารณาและมีมติเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 33 แห่ง เร่งดำเนินการ 6 มาตรการ
โดยนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ในส่วนปัญหาขยะจังหวัดพิษณุโลก สืบเนื่องเนื่องจากบ่อขยะเดิมกำลังจะหมดสัญญา ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ซึ่งทำให้ อปท. 32 แห่ง และมหาวิทยาลัยนเรศวร เกิดปัญหาไม่มีสถานที่ทิ้งขยะ ส่งผลให้เกิดปัญหา เนื่องจากประชาชนต่างคิดว่า เสียเงินกับค่าขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหา โดยแนวทางนั้นจะมีต้องร่วมด้วยช่วยกันในการเริ่มต้นจากต้นทาง คือ ครัวเรือน ที่ต้องมีการคัดแยกขยะ ทั้งขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ที่ขายได้ ขยะ RDF ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณขยะที่ต้องแก้ไขปัญหาได้ ส่วนที่มีปัญหาการขยะ มาทิ้งไว้สถานที่สาธารณะ หรือตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองพิษณุโลก นั้น ตนเอง ได้เรียกประชุม อปท. ทั้ง 32 แห่ง และมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เร่งหามาตรการแก้ไขโดยเร่งด่วน คือ หาสถานที่หรือ อปท.รวมกลุ่มกันหาจุดทิ้ง ซึ่งอนาคตก็ต้องหามาตรการแก้ไขอีก โดยที่ผ่านมา ทางเทศบาลตำบลหัวรอ ได้ทำโครงการเสนอขอกระทรวงมหาดไทย เพื่อเปิดโรงงานกำจัดขยะพลังงานไฟฟ้า แต่ยังไม่ทราบผล
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทุก อปท. เร่งดำเนินการ 6 มาตรการตามมติที่ประชุม คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ดังนี้
1.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง นำแนวทาง “พิษณุโลก เมืองใช้ประโยชน์จากขยะ“ ไปดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะที่ครัวเรือนอย่างจริงจัง และนำขยะในที่เหลือเข้าสู่ระบบธนาคารขยะ/กองทุนขยะของชุมชน
2.ให้เทศบาลนครพิษณุโลกไปพิจารณาปรับปรุงที่พักขยะและบ่อขยะเดิมที่บริเวณตำบลท่าทองอำเภอเมืองพิษณุโลก และตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและรายงานให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลกทราบโดยเร่งด่วน
3.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอยู่เดิม ไปพิจารณาปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและรายงานให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลกทราบ
4.เห็นชอบให้บริษัทไทมีดีเพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด และหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 33 แห่งและมหาวิทยาลัยนเรศวร ขนขยะมูลฝอยของหน่วยงานที่ไม่สามารถนำไปกำจัดที่บ่อฝังกลบขยะมูลฝอยที่ตำบลปากโทก ให้สามารถขนย้ายขยะมูลฝอยข้ามเขตจังหวัดเพื่อไปกำจัดยังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่จังหวัดนครสวรรค์ได้ โดยให้คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก (ต้นทาง)
และคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดนครสวรรค์ (ปลายทาง) พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้เทศบาลนครนครสวรรค์พิจารณารับไปกำจัด ณ สถานที่จัดการขยะต่อไป
5.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 33 แห่ง ที่ไม่สามารถนำขยะมากำจัดที่สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยลฝอยของเอกชนที่ตำบลปากโทก เสนอแผนเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ต่อคณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดพิษณุโลก ภายใน 7 วัน และสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน
6.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กวดขันการทิ้งขยะตามบริเวณถนนหนทางและในที่สาธารณะต่าง ๆ หากพบให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ภายหลังจากมีข้อสั่งการดังกล่าวแล้ว ประชาชนหลายพื้นที่ยังไม่ได้รับทราบ ทำให้เกิดปัญหาและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียล ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก จึงย้ำให้ทุก อปท.สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเองให้มีความเข้าใจตามแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าวพิษณุโลก