จังหวัดแพร่ จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม เพื่อต่อยอดเพิ่มคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทย

จังหวัดแพร่ จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม เพื่อต่อยอดเพิ่มคุณค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทย

วันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นางณัชชา มีจันทร์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดแพร่ เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”

“ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้แก่พัฒนาการจังหวัดแพร่ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ นายอำเภอ แม่บ้านมหาดไทยจังหวัดแพร่ ตัวแทนช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผ้า ในพื้นที่จังหวัดแพร่

โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเปิดโครงการ Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 และพระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล ด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์ และวันที่ 24 มกราคม 2567 เสด็จไปยังจังหวัดปัตตานี ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายชบาปัตตานี” เป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชาวจังหวัดปัตตานี ในการสร้างอัตลักษณ์ สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทย ส่วนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เสด็จไปยังจังหวัดอุบลราชธานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ที่ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาค และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ผ้ากาบบัว, ผ้ายก จก บิด แพรวา, ผ้ามัดหมี่ และผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์

ทั้งนี้จังหวัดแพร่ ได้ขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน ขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทุกพื้นที่ของจังหวัด เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ส่งผลให้ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิตผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย และน้อมนำแนวพระดำริในการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยและสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป//

ภาพ/ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

นางสาว สายรุ้ง ธรรมมี รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *