ลำปาง ประชุมเพลิงพระนักพัฒนา รก.เจ้าอาวาสวัดไหล่หินหลวง อ.เกาะคา ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยชาว อ.เกาะคา และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ลำปาง ประชุมเพลิงพระนักพัฒนา รก.เจ้าอาวาสวัดไหล่หินหลวง อ.เกาะคา ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยชาว อ.เกาะคา และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 14 มี.ค.2567 ที่เมรุชั่วคราว วัดไหล่หินหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง มีการประกอบพิธีประชุมเพลิงศพพระครูสังฆรักษ์กฤษณพงษ์ สิริวทฺฒโก (คำสม) อายุ 32 ปี 12 พรรษา อดีตผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดไหล่หินหลวง ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ที่มรณภาพด้วยเหตุจมน้ำสระหลังวัด

เมื่อเช้าวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยของชาว อ.เกาะคา และพุทธศาสนิกชนทั่วไป เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวัด และเป็นวัดเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของ จ.ลำปาง

โดยพระครูสุเขตรัตนานุรักษ์ (น้อย ถาวโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเกาะคา เจ้าอาวาสวัดนาแก้วตะวันตก อ.เกาะคา ประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิสูตร จันทร์สุรินทร์ ผู้แทนนายพินิจ จันทร์สุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง เป็นประธานฝ่ายฆารวาส ได้ประกอบพิธีแบบล้านนา พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์


ถวายภัตตหารเพลแด่พระสงฆ์ – สามเณร พิธีทอดผ้าบังสุกุลและไตรบังสุกุล 33 ไตร พระสงฆ์ 20 รูป ก่อนประกอบพิธีขอขมาศพ ประกอบพิธีประชุมเพลิงศพ เสร็จพิธี

สำหรับ พระครูสังฆรักษ์กฤษณพงษ์ สิริวทฺฒโก นามเดิม วาริช คำสม เกิดเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2534 เป็นบุตรของนายชัยชนะ นางอัมพร (เสียชีวิต) มีพี่น้อง 3 คน เป็นพี่ชายคนโต การศึกษา บรรพชาเป็นสามเณร จบชั้น ม. 6 และ นธ.เอก อุปสมบทเมื่ออายุ 21 ปี และจำพรรษาที่วัดบ้านแล อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นเลขานุการ เจ้าคณะตำบลบ้านแล ต่อมา เจ้าอาวาสวัดไหล่หิน มรณภาพ ชาวบ้านจึงนิมนต์มาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด รักษาการเจ้าอาวาสวัดไหล่หินได้เพียง 8 เดือน ดูแลพัฒนาวัดเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน จนกระทั่งพบเหตุมรณภาพดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อเวลา 05.00 น.เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ชาวบ้านไหล่หินได้มาทำบุญที่วัดไหล่หิน แต่ไม่พบพระครูสังฆรักษ์ กฤษณพงศ์ ชาวบ้านจึงพากันค้นหา จนกระทั่งเมื่อไปถึงในเวลา 10.00 น. ได้พบว่า มีรองเท้าแตะ ลอยอยู่ในสระน้ำหลังวัดห่างจากกุฎิประมาณ 20 เมตร จึงแจ้งตำรวจ สภ.เกาะคา และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยเกาะคา ร่วมกับ หน่วยกู้ภัยสว่างนครลำปางได้ลงน้ำเพื่อค้นหา ใช้เวลาไม่นานก็จึงเจอร่างพระจมอยู่ใต้สระน้ำดังกล่าว

เบื้องต้นคาดว่าจะเดินลงสระน้ำด้วยตัวเอง โดยในกุฏิยังพบจดหมายสั่งเสีย 2 ฉบับ ลงวันที่ 29 ก.พ.2567 โดยให้เผาศพด่วนที่สุด ภายใน 24 ชม. โดยการเผาใส่กองฟืนธรรมดาพอ ไม่ต้องทำพิธีรีตอง และขอโทษชาวบ้าน สาเหตุคาดมาจากเรื่องโรคประจำตัว โรคหัวใจและหอบหืด ต่อมาทางผู้นำชุมชนได้ประชุมพิจารณาเห็นว่า ถ้าให้เผาศพภายใน 24 ชั่วโมง เตรียมการไม่ทัน จึงขอขมาบอกกล่าว ขอตั้งศพสวดพระอภิธรรมตามจารีตประเพณี จนถึงวันที่ 13 มี.ค. และประชุมเพลิงในวันที่ 14 มี.ค.3567 เพื่อให้สมเกียรติที่ได้ทำคุณงามความดีกับชาวบ้าน ที่พัฒนาดูแลรักษาวัด จนกระทั่งมรณภาพดังกล่าว.

วินัย/ลำปาง รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *