นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำ ณ บึงตะเคร็ง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พูดคุยปัญหา ข้อจำกัด วิธีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ พร้อมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำ ณ บึงตะเคร็ง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พูดคุยปัญหา ข้อจำกัด วิธีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ พร้อมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 12.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามสถานการณ์น้ำ ณ บึงตะเคร็ง อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พร้อมพูดคุยปัญหา ข้อจำกัด และวิธีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พลตรี วิทยา แก้วพรม รองแม่ทัพภาคที่ 3 หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานภาพรวมการบริหารจัดการแม่น้ำน่าน-แม่น้ำยม และการบริหารจัดการน้ำ จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำบึงตะเคร็งทั้งระบบ จาก นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก ซึ่งบึงตะเคร็งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,340 ไร่ มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประมาณ 13.54 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นหนึ่งในพื้นที่แก้มลิงโครงการบางระกำโมเดล จุดเริ่มต้นจากอุทกภัยปี 2554 ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยรูปแบบโมเดล มีการแบ่งงานเป็น 4 กลุ่ม เป็น 2P2R โดยในด้าน Prevention การป้องกันอย่างยั่งยืน ได้อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการพัฒนาบึงขนาดใหญ่ในพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวาของ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยการพัฒนาแก้มลิง บึงตะเครง-บึงขี้แร้ง-บึงระมาณ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 30.74 ล้านลูกบาศก์เมตร และดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2558 ปัจจุบันกักเก็บน้ำได้รวม 17.76 ล้าน ลูกบาศก์เมตร/56%

หลังจากนั้นได้มีการต่อยอดและพัฒนารูปแบบของโครงการบางระกำโมเดล โดยนำข้อเสนอของเกษตรกรในพื้นที่ ในการปรับตัวการเพาะปลูกข้าวนาปีและวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยวางแผนการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตชลประทาน (พื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) พื้นที่ประมาณ 265,000 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ 21 ตำบล 97 หมูบ้าน โดยใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนสิริกิติ์ ให้เกษตรกรทำการพาะปลูกเร็วขึ้น จากเดิมที่เริ่มในเดือนพฤษภาคม มาเพาะปลูกเร็วขึ้นในเดือนเมษายน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมก่อนฤดูน้ำหลาก และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรจะไม่ทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติชั่วคราว เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก สามารถหน่วงน้ำได้สูงสุดประประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งแล้ว พื้นที่ 172,543 ไร่ ปริมาณน้ำ 330 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82%โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ตั้งแต่ปี 2560 ต่อเนื่องปีนี้ 2566 เป็นปีที่ 7

ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก ขอรับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน (1) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำ พื้นที่ฝั่งขวา (นอกเขตชลประทาน) อำเภอางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และ (2) โครงการเพิ่มศักยภาพการหน่วงน้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล พื้นที่ฝั่งซ้าย (ในเขต ชป.) สำหรับข้อเสนอแนะและความต้องการของเกษตรกร เช่น ต้องการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซม ถนน และทางสัญจร ของหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ภายหลังสิ้นสุดการหน่วงน้ำ ต้องการให้ปรับปรุงยกระดับถนนเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมถนนเพื่อให้สามารถใช้สัญจรได้ในช่วงเกิดอุทกภัย รวมทั้งปรับปรุงท่อลอดถนน อาคารชลประทาน สิ่งกีดขวางทางน้ำ ต้องการให้ส่วนราชการช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายครัวเรือน หรือการส่งเสริมอาชีพในช่วงระยะเวลาที่หน่วงน้ำ เนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมได้ ขาดรายได้ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าว แสดงความดีใจที่ได้มาพบกับประชาชนชาว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และได้รับทราบถึงการบริหารจัดการน้ำของบึงตะเคร็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้มลิงโครงการบางระกำโมเดล ซึ่งได้ยินถึงการดำเนินงานของบางระกำโมเดลมานานแล้ว ในการลดผลกระทบจากอุกภัยให้กับประชาชนในพื้นที่และประเทศไทยได้อย่างมาก ทั้งนี้ เข้าใจถึงความยากลำบากของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นอย่างดี รวมถึงการต้องพัฒนาพื้นที่บึงตะเคร็งให้ดี และมีศักยภาพในการสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น ทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น กิจกรรมแข่งเจ็ตสกี ส่วนกรณีที่มีปัญหาเรื่องเงินชดเชยนั้น รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะพยายามดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ตำบลท่างาม ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลคุยม่วง ตำบลวังอิทก และตำบลบางระกำเมืองใหม่ โดยมีประชาชนที่ประสบอุทกภัยเดินทางมารับถุงยังชีพครั้งนี้ จำนวน 700 ครัวเรือน รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายงานโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กับประชาชนเพื่อเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย

จากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางต่อไปยังชุมชนบ้านปากคลอง ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พร้อมลงเรือเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยและมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบอุทกภัยอีกด้วย โดยพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 68 ครัวเรือน จากทั้งหมด 98 ครัวเรือนตั้งแต่ช่วงประมาณต้นเดือนตุลาคม 2566 โดยระดับน้ำเพิ่มขึ้นทุกวันซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากจังหวัดสุโขทัยที่ผ่านมาต้องรับผลกระทบอยู่กับน้ำประมาณ 1 เดือน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *