#ชมคลิป กฟผ. นำคณะสื่อมวลชน ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าไฟฟ้าใต้ดินลำตะคองและกังหันลม แหล่งพลังงานสะอาดของเมืองโคราช

กฟผ. นำคณะสื่อมวลชน ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าไฟฟ้าใต้ดินลำตะคองและกังหันลม แหล่งพลังงานสะอาดของเมืองโคราช

น.ส.พรรณทิพย์ อัชฌาสัย หัวหน้ากองประสานสื่อสารสายงานหลัก พร้อมด้วย น.ส.ณิชชนันทน์ สวัสดิ์พานิช หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. นำคณะสื่อมวลชน โดยมี นางนันทนา คล้ายนุ้ย นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนนครสวรรค์ และนายวิวรรธน์ แพ่งสุภา ประธานชมรมชมรมสื่อออนไลน์ภาคเหนือ 17 จังหวัด ศึกษาดูงานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาและกังหันลมลำตะคอง ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66

โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่อยู่ใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่าง คือ เขื่อนลำตะคอง ของกรมชลประทาน ไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยงในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำลงมาเพื่อผลิตไฟฟ้าและปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม

อ่างพักน้ำตอนบนเขายายเที่ยงสร้างแบบหินถม ดาดด้วยยางมะตอย ปูทับด้วยผ้ายางสังเคราะห์ชนิดพิเศษ (HDPE) เพื่อป้องกันน้ำซึมออกจากอ่างเก็บน้ำ เก็บกักน้ำได้ 10.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวอาคารโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ถูกสร้างไว้ใต้ระดับผิวดินลึกกว่า 350 เมตร มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,000 เมกะวัตต์ โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง ใช้กังหันน้ำแบบสูบกลับชนิด Vertical Shaft Francis Type ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเมื่อปี พ.ศ. 2547 นับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มกำลังผลิตในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าสูง ช่วยเพิ่มความมั่นคงในระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้

สำหรับกังหันลมลำตะคอง ขนาด 24 เมกะวัตต์ ใช้พลังงานลมในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่อ่างเก็บน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา บนเขายายเที่ยง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นกังหันลมที่มีความสูงของเสาไม่ต่ำกว่า 90 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของใบพัดไม่ต่ำกว่า 75 เมตร ขนาดกำลังผลิตต้นละ 2 เมกะวัตต์ จำนวน 12 ต้น ที่ทอดยาวตลอด 8 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการสร้างราว 145 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานลมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 50.4 ล้านหน่วย ซึ่งสามารถทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ประมาณ 9.1 ล้านลิตร/ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้า ได้ประมาณ 22,000 ตัน/ปี นอกจากนี้ กังหันลมลำตะคองยังมีความพิเศษเพราะไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าเท่านั้น ยังทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง หรือเรียกว่า Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็น ‘แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย’ ที่ใช้ระบบนี้ในการกักเก็บและจ่ายไฟฟ้า

จุดเด่นของการจับคู่โครงการไฮบริดลมกับเซลล์เชื้อเพลิงลำตะคอง คือ การกักเก็บพลังงานลมซึ่งมักจะพัดมากในช่วงเวลากลางคืนในรูปของไฮโดรเจน ก่อนจะนำมาผลิตไฟฟ้าโดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้า หรือในช่วงเวลากลางวัน โดยการนำกังหันลมมาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานด้วย Wind Hydrogen Hybrid ที่ลำตะคองนั้น เป็นโครงการวิจัยของ กฟผ. เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย และประสิทธิภาพของการทำงานของระบบกักเก็บพลังงาน และนำพลังงานมาใช้ที่ศูนย์การเรียนรู้ลำตะคอง ทำให้อาคารศูนย์การเรียนรู้ลำตะคองใช้พลังงานภายในอาคารจากพลังงานหมุนเวียน 100% หรือ Zero Energy Building อย่างมีเสถียรภาพ ด้วยกังหันลมยักษ์ที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม บวกกับวิวทิวทัศน์ ธรรมชาติที่สวยงาม ลมเย็น ๆ และอากาศบริสุทธิ์ จึงมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินมาไปเที่ยวกังหันลมเขายายเที่ยงอยู่ตลอดเวลา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *