#ประชุมรับฟังปัญหาบึงบอระเพ็ดจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่#
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สส. บัญชีรายชื่อหัวหน้าพรรคท้องที่ไทย ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่บึงบอระเพ็ด ณ โครงการชลประทานนครสวรรค์ เรื่องสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไข เพื่อผลักดันสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายต่อไป โดยในระยะเร่งด่วนมีการเสนอให้ติดตามงบประมาณการขุดลอกเดิม ซึ่งเป็นบ่อ deep pool แห่งที่ 4 ในท้องที่ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ที่ของเดิมยังขุดไม่เสร็จ และเกิดปัญหาน้ำท่วม จนต้องคืนเงินงบประมาณทั้งหมด
ในสถานการณ์เอลนินโญ่ที่จะเกิดความแห้งแล้งในปี 2567-2568 จึงมีความเหมาะสมที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการขุดลอกเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรกรรมโดยรอบพื้นที่บึงบอระเพ็ด จึงควรผลักดันวาระเร่งด่วนด้วยการสนับสนุนงบประมาณขุดลอก deep pool แห่งที่ 4 ที่ยังขุดไม่เสร็จให้ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงนี้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 80 ล้านบาท จึงจะทำให้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามแบบได้ นอกจากนี้ Deep pool อีก 3 แห่ง สามารถขุดลอกได้ทันทีเช่นกัน เนื่องจากมีความพร้อมของโครงการที่มีแบบก่อสร้างเรียบร้อยแล้วด้วย ซึ่งหากขุดอีก 3 แห่งนี้ได้จะสามารถกักเก็บน้ำได้อีก 9 ล้านลูกบาศก์เมตร (Deep pool 1 ตัวเก็บน้ำได้ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณ 150 ล้านบาท) ส่วนในระยะยาวเป็นการขุดลอกคลองท่าตะโกด้วยการสร้างแก้มลิงบริเวณริมลำน้ำ เพื่อเป็นการเร่งการระบายน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ลดความรุนแรงของน้ำท่วมตัวอำเภอท่าตะโก และยังเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย
ผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้เป็นหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน และสถาบันการศึกษา ในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่
1) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
2) สำนักงานประมงจังหวัดนครสวรรค์
3) โครงการชลประทานนครสวรรค์
4) สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์
5) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์
6) หน่วยขุดลอกและกำจัดวัชพืชบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
7) ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
8) องค์การบริหารส่วนตำบลพระนอน
9) องค์การบริหารส่วนตำบลวังมหากร
10) ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์