กองทัพภาคที่ 2 จัดการประชุมแก้ไขปัญหาโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครราชสีมา








เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ณ ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา พลตรี ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 ร่วมกับ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครราชสีมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมที่ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาว จ.นครราชสีมา สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้.-
1. ความเป็นมา : เทศบาลนครนครราชสีมา และกองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 2 ได้จัดทำบันทึกข้อตกลง การใช้พื้นที่ในครอบครองของกองทัพบก เพื่อจัดทำโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน
– พื้นที่ A1 พื้นที่กองขยะและฝังกลบเดิม ขนาดพื้นที่ 41-0-58 ไร่ ระยะเวลาใช้งาน ปี พ.ศ. 2550 – 2567 และ เทศบาลฯ จะดำเนินการดูแลพื้นที่ต่อไปจนถึงปี 2589
– พื้นที่ A2 พื้นที่ตั้งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานเดิม ขนาดพื้นที่ 31-3-42 ไร่ ระยะเวลาใช้งาน ปี พ.ศ.2550 – 2589
– พื้นที่ B พื้นที่ตั้งโรงงานเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงาน ขนาดพื้นที่ 121-0-58 ไร่ ระยะเวลาใช้งาน ปี พ.ศ.2561 – 2589
– พื้นที่ C พื้นที่บ่อฝังกลบขยะมูลฝอยชั่วคราว ขนาดพื้นที่ 50-0-0 ไร่ ระยะเวลาใช้งาน ปี พ.ศ.2561 – 2567 และเทศบาลฯ จะดำเนินการดูแลพื้นที่ต่อไปจนถึงปี 2589
2. สาเหตุที่ทางกองทัพภาคที่ 2 ให้เทศบาลนครนครราชสีมา งดเว้นการนำขยะมาทิ้ง (ในพื้นที่ C)
เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ของเทศบาลนครนครราชสีมา ไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง และในพื้นที่ C มีปริมาณขยะสะสม 334,863 ตัน ซึ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ จากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากขยะ และเทศบาลฯ ยังไม่มีแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ชัดเจน (ซึ่งไม่เป็นไปตามการประชุมหารือในวันที่ 17 ม.ค. 68) อีกทั้ง กองทัพภาคที่ 2 ได้มีหนังสือขอให้เทศบาลฯ เร่งรัดในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วนั้น กองทัพภาคที่ 2 จึงขอให้เทศบาลดำเนินการดังนี้
1) พื้นที่ A1.1 และ A1.2 ให้เทศบาลฯ รีบดำเนินการให้เรียบร้อย
2) พื้นที่ A2 ยังสามารถดำเนินโครงการฯ ได้เหมือนเดิมตามบันทึกข้อตกลงฯ รถขนขยะอินทรีย์ สามารถนำขยะอินทรีย์มาส่งให้แก่โรงงานได้ แต่ขยะที่นอกเหนือจากขยะอินทรีย์ ให้เทศบาลฯ วางแผนขนย้ายขยะไปพื้นที่อื่น ที่ไม่ใช่พื้นที่ C
3) พื้นที่ B หลังจากศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งจนถึงที่สุดแล้ว เทศบาลฯ และกองทัพภาคที่ 2 จะมาหารือร่วมกันอีกครั้ง
4) พื้นที่ C
– ให้งดเว้นการนำขยะมูลฝอยมาทิ้งในพื้นที่ C ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 68 เป็นต้นไป
– ให้เทศบาลฯ ดำเนินการในการขนย้ายขยะออกจากพื้นที่ C เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฯ และสรุปประชุมในวันที่ 17 ม.ค.68
– ให้เทศบาลฯ ประชาสัมพันธ์หน่วยงาน และประชาชนให้งดเว้นการเข้ามาทิ้งขยะในพื้นที่ C พร้อมทั้งติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ฯ
3. สรุปการประชุมหารือในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน
จังหวัดนครราชสีมา และกองทัพภาคที่ 2 ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงการดำเนินชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาว จ.นครราชสีมา ซึ่งสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ดังนี้.-
1) พื้นที่ C
– ให้เทศบาลฯ งดเว้นการนำขยะมาทิ้ง ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 68 เวลา 1800 เป็นต้นไป
– ให้เทศบาลฯ ดำเนินการขนย้ายขยะออกจากพื้นที่ C เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง
2) พื้นที่ B อนุโลมให้เทศบาลฯ นำขยะมาทิ้งพักไว้ในพื้นที่ B ได้ ไม่เกินวันละ 350 ตัน
– เริ่มนำขยะมาทิ้งได้ตั้งแต่วันที่ 12 – 21 เม.ย. 68 (อนุโลมให้ยังไม่ต้องขนขยะออก เนื่องจากติดเรื่องการห้ามรถบรรทุกวิ่ง ช่วงสงกรานต์)
– ตั้งแต่วันที่ 22–30 เม.ย.68 สามารถนำขยะมาทิ้งได้และต้องดำเนินการขนขยะออกจากพื้นที่ B (รวมถึงขยะที่นำมาทิ้งในห้วงวันที่ 12-21 เม.ย.68) ให้หมดภายในวันที่ 30 เม.ย. 68
– ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 68 สามารถนำขยะมาพักในพื้นที่ B ได้ แต่ต้องดำเนินการขนย้ายขยะออกให้หมดเป็นประจำทุกวัน
ภาพ/ข่าว :กองทัพภาคที่ 2 กันตินันท์ เรืองประโคน/รายงาน
Share this content: