







พ่อเมืองประจวบฯ นำทีม “ลงแขก – ลงคลอง” กำจัดปลาหมอคางดำให้หมดจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่คลองบางนางรม
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.68 นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ เป็นประธานเปิดกิจกรรมร่วมด้วย ช่วยกัน “ลงแขก – ลงคลอง” กำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ “Next Move Prachuap ประจวบต้องไปต่อ” ที่คลองบางนางรม บริเวณด้านหลังสำนักงานประมงจังหวัดประจวบฯ อ.เมืองประจวบฯ โดยมี นายสมนึก พรหมศร ประมงจังหวัดฯ นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ นายบรรพต รัตนจันทร์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดฯ นายธนวัฒน์ เรืองเดช หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ และชาวประมงพื้นบ้านร่วมกิจกรรม เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานประมง เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชาวประมงพื้นบ้าน และผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดฯ มาร่วมบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ช่วยกันจับปลาหมอคางดำออกจากคลองบางนางรม พร้อมมีกิจกรรมสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพโดยสถานีพัฒนาที่ดินประจวบฯ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และหัวหน้าส่วนราชการได้ร่วมกันทำน้ำหมักชีวภาพด้วย ก่อนร่วมกันปล่อยปลากะพงขาว ขนาด 5-7 นิ้ว ซึ่งเป็นปลาผู้ล่าลงสู่คลองบางนางรมเพื่อไปกินลูกปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
นายสมนึก พรหมศร กล่าวว่า จ.ประจวบฯ พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ 8 อำเภอ ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดฯ ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของกรมประมง เพื่อควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกำจัดโดยการ “ลงแขก ลงคลอง” และการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 67 ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 68 และยังต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องในทุกอำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1-2 ครั้งต่อเดือน เพื่อควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำให้เหลือน้อยที่สุด ให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำประจำถิ่น ซึ่งที่คลองบางนางรมนี้ได้มีการทำกิจกรรมลงแขกลงคลองไปแล้ว 4 ครั้ง พบว่าปลาหมอคางดำเริ่มลดน้อยลง จึงได้ปล่อยปลากะพงผู้ล่าลงไป ทั้งนี้ จากการดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำมากว่า 1 ปี พบความชุกชุมในแหล่งน้ำลดลงชัดเจน เหลือเพียงลำคลองไม่กี่แห่งที่ยังมีความชุกชุม ส่วนการระบาดในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่เลี้ยงแบบบ่อธรรมชาติ หลังจากที่ได้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรเพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพก็พบว่าไม่ค่อยมีปลาหมอคางดำหลงเหลือแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ จ.ประจวบฯ ได้รับโควต้ารับซื้อปลาหมอคางดำจากกรมประมงเพิ่มอีก 104 ตัน เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง.
นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์/4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์0909944781
Share this content: