







สพฐ. ร่วมกับ กฟผ. ปล่อยคาราวานวิศวกรและช่างอาสา ตรวจสอบโครงสร้างอาคารโรงเรียน สพฐ. 6 จังหวัด จากเหตุแผ่นดินไหว
วันที่ 4 เมษายน 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) มอบหมายให้ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ร่วมปล่อยขบวนคาราวานวิศวกรและช่างอาสา กฟผ. กว่า 20 คัน เข้าพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารของโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมกระจายทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ 6 จังหวัด ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2568 โดยมีนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ในฐานะประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ร่วมเป็นประธานฯ พร้อมด้วย นางวรางคณา ไชยเรือน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. และคณะผู้บริหาร ร่วมปล่อยขบวนรถจิตอาสาจากสำนักงานใหญ่ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี
.
นายธีร์ ภวังคนันท์ (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า จากการประเมินทั่วประเทศมีประมาณเกือบ 3,000 โรงเรียน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา โดยกิจกรรมวันนี้เป็นความร่วมมือกันของ กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ได้มีการหารือร่วมกับ สพฐ. เพื่อสำรวจโรงเรียนกลุ่มที่สถานการณ์หนัก และปานกลาง ประมาณ 60 โรงเรียน ซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับให้ติดตามและเป็นห่วงมาก โดยส่วนหนึ่งเราได้พยายามประเมินตามแนวทางกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว แต่ด้วยความที่ประสบการณ์และจำนวนคนไม่เพียงพอ ก็ได้ความอนุเคราะห์จากทาง กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ในการร่วมมือกันเบื้องต้นก่อน ซึ่งวันนี้ก็จะเป็นการประเมินโดยผู้มีประสบการณ์สูง ซึ่งแต่ละคนเป็นวิศวกรที่มีใบอนุญาตและดูแลงานโครงสร้างเป็น ซึ่งจะช่วยให้เรามั่นใจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สพฐ. ภายใต้การนำของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าว และมีข้อสั่งการให้ปรับแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมแผนฯ ในวันนี้ก่อนสำหรับทุกโรงเรียนที่จะจัดการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5-6 เมษายน 2568 นี้
.
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ (ผู้ว่าการ กฟผ.) ในฐานะประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา เผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนในหลายพื้นที่ของไทยได้รับความเสียหาย รวมทั้งโรงเรียนภายใต้ สังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นช่วงการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 หากจัดการสอบล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครอง กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา จึงได้จัดทีมวิศวกรและช่างอาสากว่า 200 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างและประเมินความเสียหายอาคารเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 60 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2568 เพื่อทำการฟื้นฟูอาคารต่อไป โดยแบ่งระดับความเสียหายของอาคารเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ไม่เสียหายหรือเสียหายเล็กน้อย ระดับ 2 เสียหายปานกลาง สามารถใช้งานอาคารได้บางส่วนหรือทั้งหมด และระดับ 3 เสียหายรุนแรง อาคารอาจพังถล่มได้ สำหรับทีมวิศวกรและช่างอาสาที่จะเข้าตรวจสอบอาคารโรงเรียนสังกัด สพฐ. ใช้วิธีการตรวจสอบแบบพินิจทางกายภาพ (Visual Inspection) และเครื่องมือตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ร่วมกับการ Checklist ตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร เช่น เสา คาน ผิวผนังทั้งภายใน-ภายนอก กระจก ลิฟต์ สายไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า ฯลฯ
.
ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายและต้องได้รับการตรวจสอบโครงสร้างอาคารในเบื้องต้น ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ, จังหวัดนนทบุรี อาทิ โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี โรงเรียนวัดลากค้อน, จังหวัดปทุมธานี อาทิ โรงเรียนลำสนุ่น โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม, จังหวัดสมุทรปราการ อาทิ โรงเรียนวิสุทธิกษัตรี โรงเรียนคลองมหาวงก์, จังหวัดสมุทรสาคร อาทิ โรงเรียนวัดบ้านไร่ โรงเรียนวัดธรรมเจดีย์ศรีพิพัฒน์ และจังหวัดนครปฐม อาทิ โรงเรียนวัดห้วยตะโก โรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ เป็นต้น
.
ที่ผ่านมา กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ได้จัดอบรมแนวทางการตรวจสอบอาคาร หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ให้กับทีมวิศวกรและช่างอาสา เตรียมพร้อมก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพื่อให้มีความเข้าใจ และสามารถตรวจสอบสภาพอาคารได้อย่างถูกต้อง
Share this content: