





ลำปาง-หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเจดีย์พระธาตุลำปางหลวง ไม่มีรอยแตกร้าว แต่วิหารน้ำแต้มเสียหายหนัก
เมื่อวันที่ 2 ม.ย. 2568 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง พระครูพิธานนพกิจ รองเจ้าคณะอำเภอเกาะคา เจ้าอาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวง เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ทางวัดและเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร ได้เข้าตรวจสอบเจดีย์และศาสนสถานโบราณภายในวัด โดยเฉพาะเจดีย์พระธาตุลำปางหลวง อยู่ในสภาพปกติ ไม่มีรอยแตกร้าวแต่อย่างใด
รวมทั้งวิหารหลวง เป็นวิหารขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อ พ.ศ.2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจมีเสาวิหารร้าวบางเสา ส่วน ซุ้มพระบาท สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ.1992 กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต มีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ.1275 พิพิธภัณฑ์ ศิลปวัตถุที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น ไม่ได้รับความเสียหาย
สำหรับส่วนที่เสียหายมากที่สุดคือ วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี“แต้ม”แปลว่า ภาพเขียน สร้างเมื่อ พ.ศ.2044 เป็นวิหารเก่าที่มีอายุกว่า 524 ปี ภายในเปิดโล่งไม่มีเพดาน คงรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่เก่าแก่และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมากและประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.25 เมตร
ซึ่งทางวัดได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเข้าตรวจสอบเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าฐานเสาวิหาร ที่ก่อด้วยอิฐวางเป็นชั้น และฐานปูนที่สร้างครอบเสาไม้ไว้ รวมทั้งฝาผนัง มีรอยแตกร้าวหลายแห่ง เนื่องจากการก่อสร้างสมัยโบราณไม่มีฐานเหล็ก ก่อสร้างตามภูมิปัญญาช่าง ส่วนความเสียหายไม่สามารถประเมินราคาได้ ทางวัดได้รายงานให้ทางกรมศิลปากรทราบแล้ว เพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม ทางวัดไม่สามารถดำเนินการเองได้เนื่องจากได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้กับกรมศิลปากรแล้ว
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณสมัยพระนางจามเทวี ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นพระธาตุประจำของคนเกิดปีฉลู ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา พระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลังและยังเป็นที่ประดิษฐาน“พระแก้วดอนเต้า”(พระแก้วมรกต)เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะล้านนา สลักด้วยหยกสีเขียวและเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง.
วินัย/ลำปาง รายงาน.
Share this content: