ศรีสะเกษ สมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษชื่นชมงานช้างสุรินทร์ครั้งที่ 58 ยิ่งใหญ่ ขณะที่ผอ.ททท.จังหวัดสุรินทร์นำชมการผลิตลูกประคำเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านเรียกว่าลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงามมาก
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัด ศรีสะเกษและประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา ตนได้นำคณะกรรมการและสมาชิกของสมาคมประกอบด้วย นางศิริพร ไพบูลย์ นางจันทร์เพ็ญ ปริปุณณะชัย นางนิธินารถ ธนินกุลกิตติ นายกวีพจน์ พรเอี่ยมมงคล ดร.รัชพล สุทนต์ภัชกุล นางสาววัชนันต์ จิตติวิรุฬห์ นางสาวสุวรรณี วิมลสุข นางสาวณัจยา บูรณะ และคณะ เดินทางไปที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดี ศรีณรงค์จางวาง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงาน“มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ครั้งที่ 58″ประจำปี 2561 ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่มาก โดยมีนายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน มีหัวหน้าส่วนราชการพร้อมด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไปร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ซึ่งการจัดงานนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ และร่วมอนุรักษ์วิถีชีวิตคนกับช้างให้คงอยู่สืบไป มีกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่คือการเลี้ยงอาหารช้างใหญ่ที่สุดในโลก โดยมี นางธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดสุรินทร์และคณะ ให้การต้อนรับและนำคณะเยี่ยมชมการจัดงานในครั้งนี้ จากนั้น ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดสุรินทร์ ได้นำคณะสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ เดินทางไปที่หมู่บ้านเครื่องเงินตำบลเขวาสินรินทร์และหมู่บ้านท่าสว่าง เพื่อศึกษาดูงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีสุรินทร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อจะได้นำกลับไปเป็นแนวทางในพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP ของจังหวัดศรีสะเกษ ต่อไป
ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า การที่ตนได้นำคณะสมาชิกของสมาคมไปร่วมพิธีเปิดงานแสดงของช้างของจังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้พบว่า เป็นการจัดงานช้างที่ยิ่งใหญ่มาก มีช้างกว่า 160 เชือก มาร่วมในพิธี มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ที่หลากหลาย ขบวนรถแห่ประดับด้วยผลไม้อาหารช้างสวยงาม และนักท่องเที่ยวก็ได้ร่วมเลี้ยงอาหารช้างเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยว เป็นเสน่ห์ของการสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมือนที่ใดในโลกนี้ และจัดเป็นงานระดับโลกที่มีการบรรยายเป็นภาษาเขมร ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษและภาษาไทย ตนขอชื่นชมว่า เป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่มากอีกงานหนึ่งของประเทศไทย
ทางด้าน นางธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติและมีมติให้ปี พ.ศ. 2561 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน หรือ Amazing Thailand Tourism Year 2018 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2560 – วันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยมุ่งเน้นสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำระดับโลก บนพื้นฐานของความเป็นไทยและกระจายรายได้สู่ชุมชนจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนี้ยังเน้นการส่งเสริมกิจกรรมที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ซึ่งจังหวัดสุรินทร์มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางประเพณีศิลปวัฒนธรรมทางด้านของชนเผ่าเขมร กูยและลาว จนได้ชื่อว่าเป็น “ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอีสานใต้” มีวิถีการดำเนินชีวิตแบบแผนอันดีงามของคนในสังคมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีประวัติการก่อตั้งเมืองเกี่ยวพันกับช้าง มีความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงช้าง มีวิถีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และปัจจุบันสุรินทร์ยังเป็นเมืองที่มีคนเลี้ยงช้างมากที่สุดของประเทศจนได้ขนานนามว่า“เมืองช้าง”
ผอ.ททท.จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยต่อไปว่า หมู่บ้านเขวาสินรินทร์เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองที่เรียกว่าผ้าโฮล และมีการผลิตลูกประคำเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านเรียกว่าลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงามมาก โดยเฉพาะกลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านโชคสร้างความโดดเด่นในเรื่องของเอกลักษณ์กรรมวิธีโบราณผสมผสานกับการทำปะเกือมหรือประคำในภาษาภาคกลาง ด้วยวัตถุดิบเงิน 60% สื่อสารภาพลักษณ์ผ่านการประดิษฐ์ลวดลายต่างๆจำนวน 13 ลายเป็นการประดิษฐ์ที่ทำยากมากเป็นลายที่สลับซับซ้อนและมีราคาสูง วิธีสังเกตความสวยงามอยู่ที่ลายที่แกะด้านนอกและความแวววาวของเนื้อโลหะเงินพ่วงด้วยผลผลิตปลายทางอย่างเครื่องประดับกำไลข้อมือสร้อยประคำต่างหูแหวน ล้วนเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อันภาคภูมิใจของคนอีสานใต้ หากนักท่องเที่ยวสนใจที่จะไปเยี่ยมชมขอเชิญเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 214 สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ดไปประมาณ 14 กิโลเมตรแยกขวามือไปอีก 4 กิโลเมตร เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมทุกวัน
ศิริเกษ หมายสุข / ศรีสะเกษ