ม.แม่โจ้ เปิดโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกในมหาวิทยาลัยไทย
เชียงใหม่ / วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดพิธีเปิด โรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วัชรินทร์ บุญฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี และบรรยายพิเศษ “แผนพลังงานแห่งชาติ 2024 กับทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทย” โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวต้อนรับ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิกราน หอมดวง คณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวรายงาน ทั้งนี้มี คณะผู้บริหารมหาวิทยลัย ผู้แทนบริษัททางด้านพลังาน ผู้บริหารหัวหน้าส่วนงานจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้
โรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถือเป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกแห่งเดียวในสถานศึกษาและส่วนราชการ ซึ่งสามารถผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งงานทางการเกษตร การใช้งานตกแต่งสถานที่ และการใช้ประโยชย์ในชีวิตประจำวัน เช่น การนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาโรงเรือนผลิตพืช พืชเจริญเติบโตได้ดี ข่วยประหยัดพื้นที่ ลดต้นทุนให้เกษตรกร และที่สำคัญคือเป็นสถานฝึกประสบการณ์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ปฏิบัติจริง พัฒนางานวิจัยของนักศึกษาในทุกระดับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและความก้าวหน้าของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้แก่นักศึกษาด้วยการรับผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตามวัตถุประสงค์ และการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมด้านการติดตั้งและผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อการสร้างรายได้นำกลับเพื่อต่อยอดเข้ามาพัฒนาและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ของโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้มีงบประมาณหมุนเวียนในการซ่อมบำรุงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในลักษณะพี่งพาตนเองได้
และ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด , บริษัทลานนาโซลาร์ เอ็นเนอร์จี จำกัด และ บริษัท เอสล่าร์ไทย วิศวกรรม จำกัด เพื่อร่วมสนับสนุนด้านวิชาการเป็นแหล่งฝึกสหกิจศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพิ่มโอกาสในการได้งานทำของนักศึกษา รวมถึงการพัฒนาการวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ขยายผลจากงานวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการสร้างโอกาสในการขยายผลของเทคโนโลยี วิจัยจากหิ้งสู่ห้าง นอกจากนั้น บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด ได้มอบเครื่อง Solar simulator เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการวิจัย
ให้แก่วิทยาลัยพลังงานทดแทน อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมอันมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งภาคส่วนชุมชน ท้องถิ่น อุตสาหกรรม ไปจนถึงระดับประเทศ ดังนั้น การเปิดโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และการลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชนในวันนี้ จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะมีบทบาทต่อการช่วยการพัฒนาเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่อไปในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม”
นิวัตร ธาตุอินจันทร์
เชียงใหม่
ติดตามรับชม
เวป สำนักข่าวคมชัด AEC(TV)ออนไลน์
เวปสำนักข่าว นคร -ออนไลน์
//เพื่อคุณ//เพื่อคนไทย//