ครม. ทุ่มงบกลางกว่า 2.553 พันล้านบาท ในการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 67 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

ครม. ทุ่มงบกลางกว่า 2.553 พันล้านบาท ในการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 67 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

 

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 กรอบวงเงิน 2,553,009,800 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) มีมติเห็นชอบในหลักการ กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,286.6016 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาการใช้งบประมาณเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก เป็นการฟื้นฟูเกษตรกรรมที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนหลังน้ำลด และระยะต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ และนำเสนอเข้า ครม. , ขอให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง พิจารณาในรายละเอียดแผนงาน/โครงการ ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

 

 

 

ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 โดยพิจารณาพื้นที่เป้าหมายจากข้อมูลพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 8 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,553.0098 ล้านบาท เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น
สำหรับแผนงาน / โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 จำนวน 8 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,553.0098 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด มี 5 โครงการ คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย (กรมการข้าว) , โครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 (กรมวิชาการเกษตร) , โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบอุทกภัย (กรมหม่อนไหม) , โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 (กรมปศุสัตว์) และโครงการส่งเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อพลาสติกและในกระชังบก (กรมประมง)
2. การฟื้นฟูพื้นที่เกษตรและซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร 2 โครงการ คือ โครงการปรับระดับพื้นที่เกษตรและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยระยะหลังน้ำลด ปี 2567 (กรมพัฒนาที่ดิน) และการซ่อมแซมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กหลังน้ำท่วม (กรมวิชาการเกษตร)
3. การลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร (กรมส่งเสริมสหกรณ์) มี 3 ด้าน คือ 3.1 การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2567 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแทนสมาชิก ต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ส่วนต้นเงินกู้ที่เกินกว่า 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ 3.2 การขยายระยะเวลาการชำระหนี้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยขอความร่วมมือให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ด้านการเกษตร โดยความสมัครใจ 3.3 ชดเชยความเสียหายของทรัพย์สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับประโยชน์คือ สามารถสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด , บรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้และผลผลิต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น

ภาพ/ข่าว สำนักงาน

ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่

นางสาว สายรุ้ง ธรรมมี
รายงานจังหวัดแพร่

 

 

ติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์
#คมชัด AEC TV ออนไลน์
#ข่าวนคร AEC TV ออนไลน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *