ยื่นหนังสือร้องต่อผวจ.เหม็นยางมะตอยเผา
กำนันตำบลปางหมู และ สมาชิกอบต.ปางหมู นำลูกบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผวจ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแพลนผลิตแอสฟัสติกคอนกรีตมีการเผายางมะตอยในการผลิตส่งผลกระทบต่อราษฎรกว่า 2,000 รายที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 นายชัยวัฒน์ สืบพงศ์เอื้อ กำนันตำบลปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ตน และนายพินิจ ใสสว่าง สมาชิกอบต.ปางหมู นายพิริยะ ตวงลาภทวีกิจ สมาชิก อบจ.แม่ฮ่องสอน นำราษฎรในหมู่บ้านขุนกลาง จำนวน 10 คน ไปยื่นหนังสือร้องเรียนของความเป็นธรรมต่อ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายประเสริฐ ประดิษฐ์ ในนามประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน (แทนนายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้ตรวจราชการการสำนักนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้รับมอบหนังสือร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากราษฎรในหมู่บ้านได้รับผลกระทบจากการผลิตแอสฟัสติกส์คอนกรีต ที่มีการเผายางมะตอยซึ่งส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง จนราษฎรบางรายมีอาการแพ้จนต้องหนีไปอยู่ที่อื่นเมื่อมีการเผายางมะตอย
ทั้งนี้ ราษฎรในหมู่บ้านขุนกลาง หมู่ 11 ต.ปางหมู จำนวน 2,000 รายได้รับผลกระทบจากการเผายางมะตอยของบริษัท แห่งหนึ่งใน ตำบลปางหมูทำให้ควันลอยมากระทบระบบหายใจ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อีกทั้งปัญหานี้เกิดมายาวนานกว่า 20 ปี ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด เจ้าของที่ดิน ที่ให้ บริษัทแห่งหนึ่งในตำบลปางหมูจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เคยรับปากกับชาวบ้านว่า จะไม่ต่อใบอนุญาตให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในตำบลปางหมูจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกทั้งเนื่องจากเจ้าของที่ดินได้เข้ามาตรวจสอบกลิ่นเหม็นของการเผายางมะตอยแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีการต่อสัญญาเช่ากันอีก จากปัญหาดังกล่าวชาวบ้านบางส่วน ไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ขณะที่มีการเผาต้องหนีไปอาศัยบ้านญาติอยู่ในเขตเทศบาล บางบ้าน ที่ไม่สามารถออกจากบ้านไปได้ ก็ต้องทนดมกลิ่นของยางมะตอยซึ่งเหม็นอย่างรุนแรง
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ทางราษฎรในหมู่บ้านขุนกลาง ฯ ได้มีการจัดประชุมหารือเรื่องผลกระทบจากกลิ่นการเผายางมะตอย ที่วัดกุงเปา โดยมีตัวแทนของฝ่ายปกครองอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มาร่วมรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้มีการยืนยันว่า พอเจ้าหน้าที่จาก อบต.ปางหมู ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องกลิ่นเหม็นจากการเผายางมะตอย ทางโรงงานจะหยุดดำเนินการทันที เหมือนรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการมาตรวจสอบทุกครั้ง
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กดังนี้
โรงงานสีเทาผิดกฎหมายจำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ของท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอ้างไม่รู้ ไม่ได้ติดตามตรวจสอบทั้งๆที่มีอำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535 เพราะอะไร
1.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการเหตุเดือดร้อนรำคาญ ออกกฎหมายโดยกรมอนามัยผ่านคณะกรรมการสาธารณสุข แต่ไปกำหนดให้เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปก ครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. เป็นผู้ไปดำเนินการระงับเหตุรำคาญตามมาตรา 25 ขณะที่กรมอนามัยและคณะกรรม การสาธารณสุขทำหน้าที่เพียงแค่ให้คำแนะนำแก่องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่เคยลงพื้นที่มาช่วยเหลืออะไร
ขณะที่มาตรา 8 กำหนดให้ เมื่อเกิดเหตุผลกระทบต่ออนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของอปท. อธิบดีกรมอนามัยสามารถแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งการให้ให้นายแพทย์สาธารณ สุขจังหวัดไปดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมากรมอนามัยไม่ค่อยทราบเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่างๆจึงไม่เห็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลงมาช่วยท้องถิ่นจัดการปัญหาการร้องเรียนหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญแต่อย่างใด
2. ตามมาตรา 31-33 คณะกรรมการสาธารณสุขสามารถออกประกาศประเภทของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพื่อให้ท้องถิ่นไปออกข้อบัญญัติกำกับดูแลสถานประกอบดังกล่าวซึ่งมีอยู่จำนวน 142 ประ เภท ตั้งแต่กิจการรับสักยันต์ เลี้ยงหมูไปจนถึงโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ โรงงานสารเคมี โรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม เป็นต้น เจ้าพนักงานกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในอบต.หรือเทศบาลมีไม่เกิน 5 คน ไม่มีเครื่องมือตรวจวัด ตรวจสอบใดๆ พนักงานหลายคนเป็นพยาบาลไม่มีความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหรืออาชีวอนามัยความปลอดภัย จะไปตรวจสอบโรงงานที่ซับซ้อนได้อย่างไร
3.การออกกฎหมายให้ท้องถิ่นต้องรับภาระตรวจสอบระงับเหตุรำคาญสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ หลายแห่งเป็นทุนสีเทาโดยที่คนออกกฎหมายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยอย่างนี้ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี เนื่องจากไม่มีความรู้ ไม่มีคนไปตรวจสอบและไม่มีเครื่องมือไปตรวจวัดอาจจะถูกประชาชนฟ้องศาลปกครองตามมาตรา 157 โทษละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ เหตุการณ์ เช่น โรงงานวินโพรเสส จ.ระ ยอง โรงงานเอกอุทัย จ. อยุธยา โรงงานที่กลางดง โคราชหรือโรงงานแว๊กกาเบจ จ. ราชบุรี เป็นต้น กรมอนามัยจะอ้างทุกเวทีว่าไม่เกี่ยวเป็นเรื่องของท้องถิ่น
ทั้งที่มีการตั้งกองกฎหมาย กองอนามัยฉุกเฉิน กองประเมินผลกระทบสุขภาพ กองอนามัยสิ่งแวดล้อม กองสุขาภิบาลอาหารและน้ำ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เพียงแค่ให้สุขศึกษา จัดอีเว้นท์ที่เห็นก็มี street food good health จัดแล้วก็จบกันไป
4.จากการพูดคุยในวงวิชาการ พ.ร.บ. การสาธารณสุข 2535 ควรจะต้องได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุงซึ่งทำได้ 2วิธี คือเพิ่มบทบาทให้กรมอนามัยต้องลงพื้นที่ไปจัด การแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยให้ความช่วยเหลือท้องถิ่นอย่างเต็มที่ดังเช่น กรมควบคุมมลพิษ หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมทั้งจะต้องเป็นผู้ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขร่วมกับท้องถิ่นแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยด้วย ประเด็นที่ 2 อาจจะปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.การสาธารณสุขเป็น พรบ.อนามัยสิ่งแวดล้อมและมอบให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ) กระทรวงมหาดไทยไปดูแลแทนเพราะสังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดูแลงบประมาณ และอัตรากำลังได้โดยตรง
ทศพล / แม่ฮ่องสอน
0850309987
ติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์
#คมชัด AEC TV ออนไลน์
#ข่าวนคร AEC TV ออนไลน์