เด็ก 3 จชต. อ่วม! เผชิญปัญหาทุพโภชนาการสูงสุดในไทย ส่งผลเตี้ยเกินเกณฑ์เกือบเท่าตัว สสส. สานพลัง ภาคี ชู 3 ข้อ สร้างโภชนาการที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จชต.

เด็ก 3 จชต. อ่วม! เผชิญปัญหาทุพโภชนาการสูงสุดในไทย ส่งผลเตี้ยเกินเกณฑ์เกือบเท่าตัว
สสส. สานพลัง ภาคี ชู 3 ข้อ สร้างโภชนาการที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จชต.

 

 

จากสถานการณ์ด้านโภชนาการพื้นที่ชายแดนใต้ ปี 65 และในอนาคต โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) มีปัญหาทุพโภชนาการติด 1 ใน 5 อันดับสูงสุดของประเทศ พบเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นหรือมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ 20 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดสารอาหารต่อเนื่อง กระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว รวมถึงส่งผลต่อความไม่มั่นคงของมนุษย์ และเศรษฐกิจ

 

 

 

 

ประเทศ
ประชาชนในปัตตานีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ผลิตอาการได้เองเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการเฉลี่ย ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อรายได้และความยากไร้ของประชาการที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดติด 1 ใน 10 อันดับของไทย เกิดภาวะทุพโภชนาการ การกำหนดนโยบายด้านระบบอาหาร ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา และภาคีเครือข่าย จึงจัดเวที Policy Forum พลังความร่วมมือร่วมใจ ทุกนโยบายห่วงใยระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ “Food system in all policy” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ ณ โรงแรมปาร์ค อินทาวน์ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ เป็น 1 ใน 7 ประเด็นการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี ของ สสส. มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ
“สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย นำร่องพัฒนาตำบลต้นแบบบูรณาการระบบอาหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี จนเกิดการยกระดับการทำงานเชิงระบบและเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 เรื่องคือ 1.สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัย จ.ปัตตานี 3.แก้ปัญหาโภชนาการในกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียน และกลุ่มเปราะบาง จ.ปัตตานี การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือจัดทำ Road map การขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ ในระยะ 3 ปี เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลข้อเสนอเชิงนโยบายในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
การกำหนดนโยบายด้านระบบอาหาร ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างศักยภาพประชาชนให้เท่าทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เสริมความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจให้กับพื้นที่ โดยนโยบายด้านระบบอาหารจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำงานจังหวัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายผลในทางปฏิบัติต่อไป
นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในปัตตานีดูที่การผลักดันระดับจังหวัด ต้องสร้างให้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร มีข้อมูลมากทั้งการเกษตร ปศุสัตว์ หากสามารถผลิตอาหารได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ คงต้องคำนึงใช้พื้นที่มาตอบโจทย์ในพื้นที่เองมากขึ้น
“ในช่วงแรกใช้กลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 38 แห่ง ร่วมกับ Thailand Policy Lab สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน ให้สามารถจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ปัญหา สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกิดแนวร่วมในชุมชนให้เห็นพิษภัยของอาหารที่ใช้สารเคมี ทั้งอาหารแปรรูป ชาไทย ที่มีสีสังเคราะห์ปนเปื้อนในอาหาร อาหารทะเลที่มีสารฟอร์มาลีน โลหะหนัก สารหนู สารตะกั่วและอื่นๆ ปนเปื้อนในอาหาร โดยส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย และเสริมสร้างการสร้างองค์ความรู้ให้กับกลุ่มแม่เลี้ยงเด็ก ให้มีความรอบรู้ให้ผู้บริโภคฉลาดเลือก ผู้ปกครองยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารต่อการพัฒนาสมอง บางส่วนคิดว่าภาวะเตี้ยในเด็กเป็นเรื่องปกติและการสร้างนิสัยการกินที่ดีเป็นหน้าที่หลักของครู จึงเกิดภาวะเตี้ย แคระแกร็น กระจุกตัวอยู่มากเกินค่าเฉลี่ยของประเทศ การส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับสารอาหารที่เพียงพอเหมาะสมตามวัย และร่วมกันแก้ปัญหาของคนในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชน จ.ปัตตานี ที่จะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาบ้านเมือง และเป็นแกนนำสร้างสังคมสุขภาวะยั่งยืน และที่สำคัญต้องผลักดันไปทั้ง 3 จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาด้วย ต้องเสนอเป็นนโยบาย จะได้ขยับให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น”
ด้าน ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า การเข้าถึงอาหารปลอดภัย รวมทั้งความรอบรู้และพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปัญหาค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่น สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.อ. จึงเร่งบูรณาการทำงานเครือข่ายนักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมการทำงาน
“ม.อ.ช่วยส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยเพิ่มขีดความสามารถของกลไกหน่วยงานในพื้นที่ ให้เกิดแผนปฏิบัติการจัดการระบบอาหารอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการขยายผลเชิงนโยบาย และเกิดการเรียนรู้ของเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายตลาดนัดอาหารเช้าโรงเรียน 6 แห่งใน จ.ปัตตานี ให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ ผลิตอาหารปลอดภัย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ส่งเสริมโครงการปลูกผักยกแคร่ สร้างโรงเรือนปลูกผักในที่สูงป้องกันวัชพืช ทำให้กลไกชุมชนจังหวัดปัตตานี และอบจ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ต้นแบบที่เข้มแข็ง ช่วยสร้างแนวทางการกำหนดนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด”
เรื่องนี้ต้องอาศัยทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก โรงเรียน ชุมชน สังคม บูรณาการไปพร้อมๆ กัน ไม่โยนภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากการเริ่มต้นที่ดีมีคุณภาพย่อมต้องมาจากครอบครัวเป็นอันดับแรก ด้วยอาหารที่ดีมีประโยชน์เป็นพื้นฐานสำคัญที่ผลักดันให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นประการสำคัญ

อับดุลหาดี/21 ก.ย. 67

ติดตามข่าวได้ที่เว็บไซต์
#คมชัด AEC TV ออนไลน์

#ข่าวนคร AEC TV ออนไลน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *