พังงา-#ปลาฉิ้งฉ้างเกาะยาวของดีพังงาอร่อยที่สุดในประเทศ แหล่งเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชนชาวเกาะยาว
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 นายวิทูล บุญสบ กำนันตำบลพรุใน และนายอนุพงษ์ อาษาราษฎร์ รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา นำผู้สื่อข่าวไปที่ท่าเรือแหลมใหญ่ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เพื่อดูเรือประมงจับปลาฉิ้งฉ้างที่กลับเข้ามาเทียบท่า และชาวประมงกำลังนำปลาฉิ้งฉ้างสดขึ้นจากเรือขึ้นรถกระบะนำไปส่งยังโรงงานบนเกาะยาวใหญ่ โดยปลาฉิ้งฉ้างนั้นได้ถูกต้มให้สุกมาแล้วในเรือ ใส่มาในถ้าย(ตะกร้าพลาสติกทรงกลม แบบตื้นและกว้าง) วางซ้อนกันเป็นชั้นๆ เมื่อลองหยิบชิมดู พบว่ารสชาติเค็มๆมันๆ อร่อยดี
จากนั้นได้นำไปชมกระบวนการผลิตเป็นปลาฉิ้งฉ้างอบแห้ง ที่โรงงานปลาฉิ้งฉ้าง “ขวัญฤทัย ปลากะตัก”ในพื้นที่ต.พรุใน ที่มีคนงานและเจ้าของโรงงานกำลังทำงานกันอย่างจ้าละหวั่น ทั้งนำปลากะตักเข้าไปในเตาอบ เมื่อแห้งได้ที่ก็นำออกมากมาใส่ในตะกร้าใบหนึ่งก่อนนำไปใส่ในเครื่องแยกขนาดตัวปลา แล้วนำมาคัดคุณภาพเอาปลาชนิดอื่นและเศษปลอมปนออก ก่อนจะตั้งวงคัดใส่ถุงอีกครั้งให้ลูกค้ามารับไปขายต่อไป ซึ่งพบว่าสินค้าปลาฉิ้งฉ้างเกาะยาวส่งขายออกนอกพื้นที่เดือนละหลายล้านบาทเลยทีเดียว
นางขวัญฤทัย นาวีว่อง อายุ 60 ปี เปิดเผยว่า ปลาฉิ้งฉ้าง เป็นปลาประเภทเดียวกับปลากะตักของภาคกลาง เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีมากในทะเลเกาะยาว แต่เดิมมีเรือออกไปจับแล้วนำมาขายให้โรงงาน และได้สร้างโรงงานแปรรูปเองประมาณ6ปีแล้ว โดยนำปลาจากเรือของครอบครัวและของญาติๆที่ออกไปจับนำมาแปรรูป ก่อนจะส่งขายให้กับโรงงานและพ่อค้าที่ส่งไปขายนอกพื้นที่ทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ ในราคา150-170บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับความอร่อยของปลาฉิ้งฉ้างเกาะยาวที่มีเสียงลือเสียงเล่าว่า “อร่อยที่สุดในประเทศไทย” นั้น มาจากเราใช้เรือประมงขนาดใหญ่เมื่อจับปลามาได้แล้วก็จะต้มให้สุกบนเรือทันที ทำให้ได้ตัวปลาที่สมบูรณ์ รสชาติดี มีความมัน เค็มน้อย เพราะหากทิ้งเอาไว้ ปลาสดจะท้องแตก หัวหลุด ทำให้ไม่อร่อย และไม่ได้ราคาทันที
นายวิทูล บุญสบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาฉิ้งฉ้าง ได้กลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยการจับและแปรรูปเป็นปลาตากแห้งหรือปลากรอบ ปลาฉิ้งฉ้างไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับชาวประมงท้องถิ่น แต่ยังเป็นส่วนประกอบหลักในเมนูอาหารพื้นบ้าน การจับปลาฉิ้งฉ้างเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านได้มีการปรับตัวให้การประมงปลาฉิ้งฉ้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แหล่งปลานี้ยังคงอยู่สำหรับอนาคต การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ชุมชนให้ความสำคัญ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง