นายธวัชชัยศรีทองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex)
โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม
เนื่องด้วยสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นและประชาชนได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ กระมหาดไทย โดยการสั่งการของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดให้จัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ในครั้งนี้ขึ้น เพี่อติดตามสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์เพื่อพยากรณ์และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ได้แสดงความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยดังกล่าวและได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยในระยะเร่งด่วนในห้วงต่อไป โดยเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมแจ้งวิธีการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยกำชับให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบให้เพียงพอ หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ให้ดำเนินการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนเผชิญเหตุอุทกภัย
โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ ควบคุม และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ โดยให้ความสำคัญกับรักษาชีวิตของประชาชนผู้ประสบภัยเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก รวมถึงเตรียมพร้อมทรัพยากรทุกด้าน ทั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และกำลังเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งจัดเตรียมงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะเร่งด่วนให้เพียงพอ ที่สำคัญ ให้จังหวัดรายงานสถานการณ์ ผลกระทบ และการให้ความช่วยเหลือต่อกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่อง โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดประเมินสถานการณ์ และขอรับการสนับสนุนทรัพยากรหากเกินขีดความสามารถอย่างเร่งด่วน
วิศาล แสงเจริญ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดชลบุรี