คณะรัฐมนตรีตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีเอกภาพ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูหลังน้ำลด นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีเอกภาพ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูหลังน้ำลด
นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี

 

 

 

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้นำประเด็นสถานการณ์น้ำเข้าหารือในที่ประชุม เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เกิดขึ้นซ้ำซากและเรื้อรังมานาน ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำที่ไม่มีที่รองรับน้ำในพื้นที่ภาคเหนือที่จะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ เกิดความเสียหายขึ้นในทุกปี และจะต้องมีการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะปีนี้มีมวลน้ำเกิดขึ้นจำนวนมาก ที่ประชุมหารือว่าฝนที่ตกแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะได้ตกเป็นจุด ๆ เป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ที่ประชุมเห็นว่าการแก้ปัญหาจะต้องแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ , เมื่อหลังน้ำลดจะช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้อย่างไร และการแก้ปัญหาในระยะยาว ที่จะต้องเป็นวาระแห่งชาติในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เมื่อมีคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศแล้ว จะบรรจุเป็นวาระเร่งด่วน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีเอกภาพ จัดเป็นในรูปแบบของคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่และการใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน
โดยมีคณะกรรมการจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ การแจ้งเตือน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดูแล เพื่อให้ทุกคนทราบข่าวว่าน้ำจะมาอย่างไร มีปริมาณเท่าไร เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันจะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 , การดูแลช่วยเหลือประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเป็นหลักในการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน
การใช้งบประมาณของศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย รักษาการนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาจากที่แต่ละฝ่ายเสนอมา โดยจะใช้จากงบกลางในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ ทั้งนี้ จังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติจะมีงบทดรองจ่ายที่สามารถใช้ได้จำนวน 20 ล้านบาท หากไม่เพียงพอต้นสังกัดจะของบ กลางตามขั้นตอนต่อไป มีการเตรียมไว้อย่างเพียงพอและไม่ทับซ้อน คณะกรรมการชุดนี้จะดำเนินการทุกอย่างรวดเร็วตอบสนอง ต่อความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทันท่วงที มีหน้าที่ป้องกัน แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟู
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์สาธารณภัย ตั้งแต่วันที่ 16-27 สิงหาคม 2567 มีอุทกภัยเกิดขึ้น 14 จังหวัด 73 อำเภอ 309 ตำบล 1,670 หมู่บ้าน 51,704 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย 9 ราย และเสียชีวิตจากดินถล่มที่จังหวัดภูเก็ต 13 ราย ผู้บาดเจ็บ 19 ราย

 

ภาพ/ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดแพร่
นางสาว สายรุ้ง ธรรมมี
รายงานจังหวัดแพร่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *