ลำปาง-OR จัดกิจกรรมส่งเสริมเปิด”โครงการค่ายเยาวชน OR อนุรักษ์ประเพณีตีก๋องปู่จานครลำปาง” ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.นี้
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 15 ส.ค.2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ศูนย์แห่งความสุข คลังปิโตรเลียมลำปาง อ.เมืองลำปาง มีพิธีเปิด”โครงการค่ายเยาวชน OR อนุรักษ์ประเพณีตีก๋องปู่จานครลำปาง” ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567 จัดขึ้นโดยความร่วมมือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง สมาคมก๋องปู่จาและศิลปะการแสดงพื้นบ้านนครลำปาง และ OR
โดยมีนางกรวรรณ สุ่มมาตย์ วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วย นายชูชาติ โพธิรัชต์ ผู้จัดการฝ่ายคลังปิโตรเลียมส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง นายอนุวัฒน์ น้อยจันทร์ ผจก.ส่วนคลัง ปตท.ลำปาง นายปราการ ใจดี นายกสมาคมก๋องปู่จาและศิลปะการแสดงพื้นบ้านนครลำปาง คณะครู นักเรียนเข้าร่วมพิธีเปิด
การตีก๋องปู่จาถือเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของ จ.ลำปาง และเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา ก๋องปู่จาลำปาง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศ ประจำปี 2567 การจัดกิจกรรมดังกล่าว บริษัท OR(ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมมาโดยตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเพณีการตีก๋องปู่จาของ จ.ลำปาง ให้แก่เยาวชนได้เกิดความตระหนัก ความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมของตนเอง ให้ดำรงคงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทย อย่างมั่นคงยั่งยืนสืบไป โดยมีครูและนักเรียน เยาวชนในสถานศึกษา 13 อำเภอใน จ.ลำปาง รวม 137 คน และคณะวิทยากรผู้ช่วยวิทยากร 12 คน ระยะเวลาดำเนินการจัดอบรม 3 วัน 2 คืน อบรม ณ วัดพระเจดีย์ชาวหลัง อ.เมืองลำปาง
นายชูชาติ กล่าวว่า ในนามของ OR (บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์การสืบสานประเพณีตีก๋องปู่จานครลำปาง มาอย่างต่อเนื่องตั้งตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 22 ปี OR หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จ ช่วยเสริมสร้างทักษะความรู้ในการตีก๋องปู่จาให้กับเยาวชน และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ทุกฝ่ายได้ตั้งไว้และเปิดโอกาสให้ OR ได้มีส่วนร่วมในโครงการดี ๆและมีคุณค่าซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ OR SDG หรือ SDGในแบบฉบับของ OR โอกาสในการสร้างความเติบโตไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ OR ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของการสืบสานประเพณี “ตีก๋องปู่จา” หรือ “ตีกลองปูจา” (กลองบูชา) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมไทยล้านนาที่เกือบจะเลือนหายไป โดยการสนับสนุนประเพณีดังกล่าวสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ OR ในการดำเนินธุรกิจ ที่พร้อม “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน” หรือ “Empowering All toward Inclusive Growth” เพื่อมุ่งสร้างคุณค่าให้แก่สังคมชุมชน รวมถึงการให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู และอนุรักษ์ประเพณี ตลอดจนศิลปะวัฒนธรรมของไทย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง และจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรักษาศิลปะวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่กับสังคมชุมชนตลอดไป
.
วินัย/ลำปาง รายงาน.