ลำปาง-สสจ.ลำปาง เปิดโครงการ 90 คน 90 วัน ฉันเปลี่ยนไป อบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ป้องกันและลดความรุนแรงของโรค
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง มีพิธีเปิดการอบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกาย ภายใต้”โครงการ 90 คน 90 วัน ฉันเปลี่ยนไป” ป้องกันและลดความรุนแรงของโรค โดยมี น.ส.นิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าฯลำปาง เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วย นายแพทย์ขจร วินัยพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรรมฯ
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มวัยทำงาน จังหวัดลำปาง ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้คนลำปางมีสุขภาพดี ซึ่งมีกิจกรรมขับเคลื่อนตามประเด็นปัญหาของประชากรวัยทำงาน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จำนวน 90 คน เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวบรรลุตามวัตถุประสงค์ จ.ลำปางได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการป้องกันและลดความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) จึงได้จัดทำโครงการ 90 คน 90 วัน ฉันเปลี่ยนไป โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจากส่วนราชการต่างๆ เช่น สสจ.ลำปางแรงงานจังหวัดลำปาง คลังจังหวัดลำปาง รพ.ลำปาง และอื่น ๆ เข้าร่วมอบรม
นายแพทย์ขจร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จ.ลำปาง ปี 2566 คนลำปางป่วยเป็นโรคเบาหวาน จำนวน 54,088 คน คิดเป็นร้อยละ 7.52 และป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 124,837 คน คิดเป็นร้อยละ 17.37 มี BMI เกิน จำนวน 144,300 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงขึ้น พฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และภาวะอ้วนลงพุง การป้องกันการเกิดโรค ควรให้กลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยทราบถึงปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น การช่วยให้กลุ่มเสี่ยง ได้รู้ว่าตนเองมีศักยภาพอะไรบ้าง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการช่วยให้กลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้ ส่งเสริม กระตุ้นผลักดันให้สามารถเข้าใจ และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อป้องกันการเกิดโรคและ
ควบคุมความรุนแรง ป้องกันภาวะแทรกช้อนจากโรค
น.ส.นิติยา กล่าวว่า โรคไม่เรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบส่งผลกระทบให้เกิดการเจ็บป่วยที่ต้องดูแลในระยะยาว สาเหตุของการเกิดภาวะเรื้อรัง หลายปัจจัย เช่น ผลจากความเสื่อมของสุขภาพร่างกาย วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนเป็นสังคมเมือง ชีวิตทำงานแบบเร่งรีบแข่งขัน มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงในเรื่องอาหาการออกกำลังกาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรม มีความรู้ด้านโภชนาการอาหารและด้านออกกำลังกายเพื่อดูแลตนเองให้ท่างไกลจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลสุขภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมอบรมในวันนี้ จะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเองให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและห่างไกลจากการเจ็บป่วย.
วินัย/ลำปาง รายงาน