ยุคใหม่ เครือข่ายนักเรียน D.A.R.E “พวกหนูไม่เอายาเสพติด

ตำรวจภูธรเชียงใหม่ จัดโครงการสุดเจ๋ง! ปั้นเด็กยุคใหม่ เครือข่ายนักเรียน D.A.R.E “พวกหนูไม่เอายาเสพติด

 

 


เชียงใหม่ /ที่อาคารประชุม ชั้น 2 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่โดยการอำนวยการของ พลตำรวจตรีธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิด กิจกรรมโครงการการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน เครือข่ายนักเรียน D.A.R.E. หรือ ‘ครูแดร์‘ (Drug Abuse Resistance Education) ตามแนวทางการจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน 2567 ภายใต้กรอบแนวคิดและคำขวัญที่กำหนด คือ “รวมพลังไทย สร้างครอบครัว ชุมชนอุ่นใจ พันภัยยาเสพติด เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา” โดยมีเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน

 

โครงการการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน หรือ D.A.R.E. ก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน 1983 (2526) โดยกรมตำรวจเมืองลอสแอนเจลลิส (LAPD) กับเขตการศึกษาร่วมเมืองลอสแอนเจลิส (AUSD) เป็นหลักสูตรป้องกันยาเสพติด ซึ่งพัฒนาโดยนักวิชาการด้านการศึกษา และสอนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ (ตำรวจ D.A.R.E.) ซึ่งเป้าหมายของหลักสูตรฯ ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อลดและขจัดการเสพเหล้า บุหรี่ และยาเสพติดอื่น ๆ รวมทั้งการใช้พฤติกรรมที่รุนแรงของวัยรุ่น หลักสูตร D.A.R.E. สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 เป็นชุดแรกในองค์ประกอบสามส่วน (อีกสองส่วน ได้แก่ หลักสูตรสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 3 โดยหลักสูตรสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะเกี่ยวโยงกับหลักสูตรของชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 หลักสูตรสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นหลักสูตรเสริม หลักสูตรสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5,6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาความสามารถที่จำเป็นสำหรับนักเรียน ในการดูแลรับผิดชอบชีวิตของตนเองเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนของสภาพสังคมในอนาคตเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น

 

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยนำโครงการ D.A.R.E. มาใช้ในปี พ.ศ.2542 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษา และนำมาปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับสังคม และวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีทั้งกิจกรรมเกมเสริมทักษะความรู้ภัยร้ายจากยาเสพติด ข้อควรรู้พฤติกรรมเสี่ยง และวิธีการป้องกันต่อต้านในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการประกวดสุนทรพจน์หัวข้อ ’ภัยร้ายจากยาเสพติด‘ ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากโครงการมาสรุปเป็นข้อคิดให้น้อง ๆ ได้ฝึกพูดในที่สาธารณะเป็นพื้นฐานในสร้างเครือข่ายผ่านการฝึกวิธีการสื่อสารต่อไป เมื่อน้อง ๆ ผู้ร่วมโครงการเติบโตขึ้นก็จะมีทักษะการสื่อสารตามเป้าประสงค์ในฐานะเครือข่ายเด็กยุคใหม่ของเครือข่ายนักเรียน D.A.R.E ต่อไป.

นิวัตร ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *