“ มดเล็ก ศักดิ์ชาย ” เตรียมเสนอนายกฯ ดันการเตือนภัยช้างป่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน “Cell Broadcast Service” หรือ CBS ของรัฐบาล
วันที่ 7 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าพบนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ประธานคณะกมธ.ติดตามการแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบถามรายละเอียดหลังทราบข่าวทางกมธ.เตรียมผลักดันระบบการแจ้งเตือนภัยช้างป่าแบบส่งสัญญาณตรงถึงชาวบ้านผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทางคณะกมธ.กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้เสนอฝ่ายต่อบริหารเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเตือนภัย CBS ของรัฐบาลว่ามีข้อเท็จจริงและมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไรหลังพบว่าทางกมธ.มีการให้สัมภาษณ์ผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายการมองรัฐสภา วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เช่นกัน
นายศักดิ์ชาย กล่าวว่า ทางคณะกมธ.มีความตั้งใจในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการเตือนภัยจากช้างป่าในพื้นที่แจ้งให้ประชาชนทราบโดยตรงและอยากให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ที่ผ่านมาได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมกับคณะกมธ.หลายครั้ง จากการติดตามลงพื้นที่ศึกษาดูงานและศึกษารายละเอียดพบว่าทุกวันนี้ชาวบ้านจำนวนมากจะรู้ว่ามีช้างป่าเข้ามาถึงชุมชนหรือเข้ามาในบ้านที่พักอาศัยก็ต่อเมื่อเห็นด้วยตาตัวเอง ช้างป่ามาเดินในหมู่บ้าน มาอยู่หน้าบ้าน เข้าครัวไปแล้ว ชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าก็มีเพียงไฟฉาย ขาดแคลนอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน มีความเสี่ยงภัยสูงมาก ในปี 2567 ผ่านไปเพียง 9 เดือนมีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจากช้างป่าไปแล้วถึง 32 รายเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูล
ตนเห็นว่าหากนำระบบการเตือนภัยจากช้างป่าที่ออกจากป่าอนุรักษ์เข้ามายังพื้นที่ทำการเกษตรหรือพื้นที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในหลายจังหวัดมาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครและแจ้งเตือนให้ชาวบ้านรู้ล่วงหน้าก่อนเป็นสิ่งจำเป็น การแถลงของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ทราบว่าภาครัฐและเอกชน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาระบบ CBS หรือ Cell Broadcast Service ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน CBS เป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน สามารถแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ 5 ภาษา ทั้ง ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า โดยจะส่งข้อความแจ้งเตือนภัยในรูปแบบ ข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง ทั้งยังมีสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดงบนหน้าจอ (Pop up) รวมถึงรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือน แก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ดังนั้นการเตือนภัยจากช้างป่าจึงน่าจะรวมอยู่ในระบบ CBS นี้ด้วย
“ ปัจจุบันภัยช้างป่ามีความรุนแรงและมีแนวโน้มสูงขึ้นตามจำนวนช้างป่าที่มากขึ้น ดังนั้นทางกมธ.จะเร่งประสานกับท่านนายกรัฐมนตรีให้ทราบและเร่งรัดให้รัฐบาลนำระบบเตือนภัยจากช้างป่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ CBS ซึ่งจะเริ่มใช้งานจริงในปี 2568 โดยเร็วที่สุด ” นายศักดิ์ชายกล่าว
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 064-364-1644