ลำปาง -มรภ.ลำปาง จัดกิจกรรมถอดบทเรียนโครงการการฟื้นฟูเทศกาลประเพณีปอยต่างข้าวซ่อมต่อ สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางวัฒนธรรม
เมื่อวัาที่ 21 มิ.ย.2567 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมโอฬารรมย์ ชั้น 1 อาคารโอฬาร โรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง รศ.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย รศ.สุพรรณี ฉายะบุตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง ผู้แทนหอการค้าจังหวัดลำปาง ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อวันที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อร่วมกิจกรรมถอดบทเรียนโครงการการฟื้นฟูเทศกาลประเพณีปอยต่างข้าวซ่อมต่อวัดศิลปะพม่าเมืองลำปาง สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางวัฒนธรรม
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายในการขับเคลื่อนการทำงานด้านการจัดการทุนทางวัฒนธรรม จากการฟื้นฟูเทศกาลประเพณีปอยต่างข้าวซ่อมต่อ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ส่งเสริมให้การดำเนินการวิจัยบรรลุเป้าหมาย พร้อมทั้งเป็นการหารือถึงกระบวนการสร้างรูปแบบ และแนวทางการพัฒนาเทศกาลประเพณีปอยต่างข้าวซ่อมต่อ ของชุมชนวัดศิลปะพม่าเมืองลำปางที่ยั่งยืนต่อไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เรื่อง “การฟื้นฟูเทศกาลประเพณีปอยต่างข้าวซ่อมต่อวัดศิลปะพม่าเมืองลำปาง สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางวัฒนธรรม” โดยมี รศ.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดี มรภ.ลำปาง เป็นหัวหน้าโครงการ โดยกระบวนการทำงาน ร่วมดำเนินการกับ จ.ลำปาง และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งการจัดงาน “ประเพณีปอยต่างข้าวซ่อมต่อวัดศิลปะพม่านครลำปาง” ครั้งแรกขึ้นในระหว่างวันที่ 20-21 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ วัดไชยมงคล หรือ วัดจองคา อ.เมืองลำปาง
“ปอยต่างข้าวซ่อมต่อ”เป็นประเพณีของชุมชนชาวพม่าไทใหญ่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองลำปางในช่วงยุคสมัยการสัมปทานป่าไม้ พ.ศ.2383 คำว่า ปอย ในภาษาล้านนามีรากศัพท์มาจากคำว่า แปวว์ ในภาษาพม่าที่แปลว่า งานบุญ ส่วนคำว่า ซ่อมต่อ มาจากคำว่า ซุน ที่แปลว่า ข้าว ต่อ แปลว่า การถวาย ปอยต่างข้าวซ่อมต่อ จึงหมายความว่า การทำบุญด้วยการถวายข้าว ในขณะที่คนลำปางนำคำว่า “ซ่อมต่อ” ในภาษาพม่ามาตีความหมายแบบภาษาไทยท้องถิ่น คือการจัดงานบุญเพื่อซ่อมบำรุงข้าวของเครื่องใช้โดยเฉพาะหมวดเครื่องครัวที่ชำรุดเสียหาย โดยนำภาชนะใหม่ที่จะถวายมาใส่ข้าวสาร ตกแต่งประดับให้สวยงามถือเป็นกุศโลบายในการดูแลข้าวของเครื่องใช้ของวัด ที่ถือเป็นของสาธารณะหรือของชุมชนซึ่งชาวบ้านมักจะเข้ามาหยิบยืมใช้
ด้วยเหตุนี้”งานปอยต่างข้าวซ่อมต่อ”จึงเริ่มแพร่หลายสู่คนเมืองโดยมีเป้าหมายในการจัดงานบุญเพื่อซ่อมแซมภาชนะหรือสร้างใหม่ เพื่อแทนที่ของเดิมที่ชำรุดเพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน..
วินัย/ลำปาง รายงาน