พังงา-ชาวบ้านแห่เก็บเห็ดในป่าชายหาดท้ายเหมือง พบทั้งเห็ดเผาะและเห็ดเหม็ด คาดเป็นเห็ดเผาะสายพันธุ์ใหม่ของโลก

พังงา-ชาวบ้านแห่เก็บเห็ดในป่าชายหาดท้ายเหมือง พบทั้งเห็ดเผาะและเห็ดเหม็ด คาดเป็นเห็ดเผาะสายพันธุ์ใหม่ของโลก

 

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวได้เข้าสำรวจพื้นที่ป่าชายหาดในอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา หลังจากได้รับแจ้งว่ามีชาวบ้านได้เข้าไปเก็บเห็ดมากินและขายได้เป็นจำนวนมากในช่วงต้นฤดูฝน โดยเฉพาะในบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.3 (ปาง) ทางไปเขาหน้ายักษ์ที่เป็นจุดท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีสภาพเป็นป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าเสม็ดและป่าชายเลน พบว่าในแต่ละวันจะมีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้าไปเก็บเห็ดต่างๆและผักหวานป่า นำไปประกอบอาหารในครอบครัวและจำหน่ายให้กับประชาชน ซึ่งพบว่ามีทั้งผักหวานป่า เห็ดเหม็ดหรือเห็ดเสม็ด ที่เป็นเห็ดขึ้นชื่อนิยมนำมาประกอบอาหารในพื้นที่

 

 

และล่าสุดพบว่ามีเห็ดอีกชนิดที่พบได้มากขึ้นในพื้นที่และราคากำลังมาแรงนั่นคือ เห็ดเผาะ ที่เราคิดว่าจะมีแต่ทางภาคเหนือเท่านั้น กลับพบว่าหาเจอได้ในป่าชายหาดอุทยานฯ ซึ่งนำไปขายกิโลกรัมละ300-400 บาท ทำรายได้เสริมให้ชาวบ้านเป็นอย่างดี ขณะที่ราคาของเห็ดเหม็ดกิโลกรัมละ 100 บาท
นางสวาท ทองด้วง แม่ค้าข้าวแกงในตลาดท้ายเหมือง เล่าว่า เห็ดเหม็ดเป็นเห็ดที่ค่อนข้างหายาก จะพบมากช่วงก่อนเข้าหน้าฝน ราคาจึงค่อนข้างสูง ช่วงแรกอยู่ที่กิโลกรัมละ200 บาทล่าสุดลดลงเหลือกิโลกรัมละ100 บาท สำหรับรสชาติของเห็ดเหม็ดนั้น จะมีรสออกไปทางขม หากนำไปรับประทานเป็นอาหาร จะต้องรู้วิธีปรุง ถึงจะอร่อย โดยจะนำไปต้มเพื่อลดความขม จากนั้นนำไปแกงกะทิใส่สับปะรดจะมีรสชาติหวานนิดหน่อยไม่ขมมาก หรือบางคนก็นำไปต้มกินกับน้ำพริก ก็จะอร่อยอีกแบบ
นายนาจ พรศรี ชาวบ้านตำบลท้ายเหมือง กล่าวว่าในช่วงต้นฤดูฝนจะชักชวนเพื่อนๆออกมาหาเห็ดไปประกอบอาหารกัน ที่เหลือก็จะเอาไปขายเป็นรายได้เสริม ที่ป่าชายหาดท้ายเหมืองนอกจะมีเห็ดเหม็ดมากแล้ว ยังมีเห็ดเผาะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในพื้นที่มีการนำไปขายกิโลกรัมละ400 บาท
ขณะที่นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เปิดเผยว่า อุทยานฯได้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปหาของป่าในเขตอุทยานฯโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนจะมีเห็ดเหม็ด หรือเสม็ด เห็ดประจำถิ่นที่งอกตามป่าต้นเสม็ด และล่าสุดเป็นที่น่าแปลกใจที่มีการพบเห็ดเผาะเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ หลังจากในปีที่แล้วมีรายการการพบเห็ดเผาะในพื้นที่และทางอุทยานฯได้เก็บตัวอย่างส่งไปให้ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ศูนย์วิจัยด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์ฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตรวจสอบว่าเป็นเห็ดเผาะชนิดเดียวกับทางภาคเหนือหรือไม่เนื่องจากไม่มีรายงานว่าพบเห็ดเผาะในพื้นที่ภาคใต้มาก่อน ขณะที่ปีนี้พบมากขึ้นก็ได้มีการเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจอีก ขณะที่อยู่ที่ห้องแล็ปในประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเป็นเห็ดเผาะชนิดใหม่ของโลกเลยทีเดียว ขณะที่ชาวบ้านขายเห็ดเผาะกิโลกรัมละ300-400 บาท เห็ดเหม็ดกิโลกรัมละ100 บาท

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *