ปลัด สธ. “ยกทัพทีมแพทย์” เปิด 28 คลินิก ตรวจรักษาชาวระแงะ ฟรี! ตามโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติในหลวง” มุ่งเน้นคัดกรองโรคเรื้อนเพื่อนำผู้ป่วยเข้ารักษา ลดการติดต่อเรื้อรังในพื้นที่
วันที่ 28 เมษายน 2567 ที่บริเวณสนามโรงเรียนอนุบาลระแงะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567″ โดยมี นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12, นายฉัตรชัย อุสาหะ รอง ผวจ.นราธิวาส, นายแพทย์ สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส, นายแพทย์ พรประสิทธิ จันทระ ผอ.โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์,
นายแพทย์ เอกวิทย์ จินดาเพ็ชร ผอ.โรงพยาบาลระแงะ, ทีมแพทย์เฉพาะทางทั้งจาก รพ.นราธิวาสราชนครินทร์, รพ.ระแงะ และโรงพยาบาลจากส่วนกลาง ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์, ภาคีเครือข่าย, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนชาว อ.ระแงะและใกล้เคียงร่วมให้การต้อนรับแและเข้ารับการตรวจรักษาประมาณ 5,000 คน
สำหรับโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เป็นโครงการที่กระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ร.10 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้ตรวจรักษาโรคกับแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา จำนวน 28 คลินิก ที่ให้บริการฟรี ลดช่องว่างการเข้าถึงบริการ และให้บริการต่อเนื่องตลอดปี 2567 จำนวน 72 ครั้ง ใน 77 จังหวัด
ทางด้าน นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดคลินิกบริการให้สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดนราธิวาสพบผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ติดต่อกันทางการหายใจ จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง ขณะเดียวกันในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารหรือพื้นที่ที่มีการอาศัยอยู่หนาแน่น พบว่าประชาชนจะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการรับบริการโดยแพทย์เฉพาะทาง ในโอกาสปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการคัดกรองโรคและความเจ็บป่วยที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประชาชน โดยจะดำเนินโครงการฯ ไปตลอดปี 2567 จำนวน 72 ครั้ง ใน 77 จังหวัด
ทั้งนี้ โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ในวันนี้ จะให้บริการตรวจคัดกรองรักษาประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกล โดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา เปิดให้บริการจำนวน 28 คลินิก ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.ได้แก่ 1.คลินิกคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บีและซี 2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง 4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม 5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ 6.คลินิกทันตกรรม 7.คลินิกกระดูกและข้อ 8.คลินิกตรวจคัดกรองมะเร็งปอดและวัณโรค 9.คลินิกปรึกษาเรื่องหัวใจและหลอดเลือด 10.คลินิกโรคไต 11.คลินิกคัดกรองสุขภาพจิต 12.คลินิกแพทย์แผนไทย 13.คลินิกแพทย์แผนจีน 14.คลินิกส่งเสริมการมีบุตร 15.คลินิกตรวจคัดกรองความดัน เบาหวาน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 16.คลินิกตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง 17.คลินิกคัดกรองพัฒนาการ 18.คลินิกหู คอ จมูก 19.คลินิกอดบุหรี่ 20.คลินิก Vaccine 21.คลินิกให้คำปรึกษาโภชนาการเฉพาะโรค 22.คลินิกคัดกรองกระดูกพรุน 23.คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู 24.การออกใบรับรองความพิการ 25.คลินิกโรคผิวหนัง 26.คลินิกตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ 27.คลินิกชุมชนอบอุ่น รับยาร้านยา และ 28.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งหากพบอาการผิดปกติในผู้เข้ารับบริการ จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลฯ เพื่อเข้ารับการรักษา
นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ครั้งนี้เป็นการดำเนินการครั้งที่ 43 ยอดรวมผู้เข้ารับบริการ ประมาณ 180,000 คน คาดว่ากว่าจะสิ้นสุดโครงการ จะสามารถบริการประชาชนได้มากกว่า 300,000 ครั้ง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเรื่องการใช้เครื่องมือระดับสูง รวมทั้งการคัดกรองโรคเบื้องต้นเพื่อการรักษาในโรคที่รักษาได้ยากซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายแพง อย่างเช่น โรคมะเร็ง จะมีคลินิคคัดกรองโรคตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับการคัดกรองและรับการรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งจังหวัดนราธิวาสพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็เป็นโรคติดต่อ ซึ่งโรคนี้จะมีอาการเป็นผื่นที่ผิวหนัง ผื่นจะมีลักษณะเฉพาะคือมีอาการชาที่ผิวหนัง สูญเสียความรู้สึก เนื่องจากเชื้อโรคจะไปทำลายระบบเส้นประสาท ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะเกิดความพิการต่างๆได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีการคัดกรองและรักษาตั้งแต่นั้นเนิ่นๆ เรามียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ก็จะช่วยให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยจากโรคเรื้อน อันนี้ก็จะเป็นคลินิกเสริมที่ดำเนินการขึ้นมา และในโครงการนี้จะมีการขยายให้คลอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้ว 43 จังหวัด ยังขาดอีก 30 กว่าจังหวัด เชื่อว่าจะคลอบคลุมประชาชนได้มากกว่า 300,000 คน
/ 28 เมษายน 2567
ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส