สตูล ทดสอบเรือไฟฟ้าแล่นในทะเล ผู้ผลิตไม่หวงพร้อมให้ชาวบ้านนักศึกษานำไปต่อยอดเพื่อใช้ในชุมชน
ศูนย์พัฒนายานยนต์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จ.สตูล ร่วมทดสอบเรือไฟฟ้า นวัตกรรมเพื่ออนาคต พลังงานสะอาด รักสิ่งแวดล้อม ที่บริเวณอ่าวนุ่น ม. 4 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล โดยมีนายคณิต คงช่วย รองผวจ.สตูล ร่วมเป็นสักขีพยานในการทดสอบใช้เรือพลังงานไฟฟ้าตามยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) โดยการทดสอบใช้เรือหัวโทง 2 ลำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทดสอบวิ่งบริเวณอ่าวนุ่น พบว่าข้อดีคือเรื่องของเสียงที่เบาและไร้ควัน ไร้มลพิษ
นายชวรณ สุธาพานิชย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สตูล กล่าวว่า ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีและมอ. เรือหาปลาในปัจจุบันใช้น้ำมันเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม ข้อดีของเรือไฟฟ้าเงียบมาก เหมาะแก่การท่องเที่ยวและหาปลา โดยเรือนี้เป็นโมเดลแรกคือเรือ13 ตัวกงลงมา ซึ่งต้องพัฒนาให้กับเรือที่มีตัวกงมากกว่านี้ สตูลเรามีเรือท่องเที่ยวมากหากพัฒนาต่อยอดให้เรือไฟฟ้าEV สามารถใช้ได้2 ชั่วโมงหากเราใช้ 2 ตัวก็สามารถใช้ได้4-5 ชั่วโมงตอนนี้เราก็ต้องพัฒนาเพื่อให้เข้ากับพื้นที่ ซึ่งการยกเครื่องขึ้น-ลงก็จะง่ายกว่า เพิ่มความสะดวกและประหยัดมากขึ้น เบื้องต้นคิดว่าน่าจะนำมาใช้กับเรือท่องเที่ยวก่อนเพราะมีระยะทางรับ-ส่งนักท่องเที่ยวที่แน่นอนกว่าการทำประมง
นายจักพรรณ วัลแอ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จ.สตูล กล่าวว่าเรื่องพลังงานสะอาดโดยเฉพาะเรือEV ตอนนี้กำลังเป็นกระแส เอสเอ็มอีเราจะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเรือไฟฟ้านี้จะเป็นการลดต้นทุนในเรื่องของน้ำมัน เบื้องต้นเราได้สอบถามชาวบ้านว่าจะดีหรือไม่หากเรามาใช้เรือไฟฟ้าเพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วันนี้เราได้มาทดลองหากผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจก็ยินดีให้คำปรึกษา ซึ่งวันนี้เองผู้ประกอบการจากจ.กระบี่เขาก็มาดูและสนใจที่จะนำเรือไฟฟ้าไปใช้
ผศ.สาวิตร์ ตัณฑนุช ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนายานยนต์มอ. กล่าวว่า เดิมทีนวัติกรรมตัวนี้ถูกใช้กับรถไฟฟ้า ซึ่งทางมอ.ได้ให้โจทย์ว่าจะพัฒนายานยนต์อย่างไรให้ตอบโจทย์กับชาวบ้านมากขึ้น จึงได้ทดลองกับเรือไฟฟ้า โดยทดลองวิ่งในตลาดน้ำคลองแห ซึ่งในส่วนของจ.สตูลทางสมาพันฯได้ติดต่อมาว่าให้ทดสอบในทะเลจ.สตูล ผลการทดลองเราอาจต้องพัฒนาในเรื่องของกำลัง เนื่องจากว่าเราวิ่งในทะเลต้องฝ่าคลื่นลม มอเตอร์ที่เราวิ่งต้องเพิ่มกำลังเพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวก เพิ่มกำลังให้แรงขึ้นจุดมุ่งหมายที่ทำขึ้นคือเรือลำเล็ก ต่อมาเนื่องจากสตูลมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมาก จึงสามารถที่จะพัฒนาการเดินเรือให้ใช้ได้เรือลำใหญ่ขึ้นและให้แล่นได้ 4 ชั่วโมง และแบตเตอร์รี่ยังหนักอยู่ จะต้องพัฒนาให้มีความเบากว่านี้ แบตเตอรี่ตัวนี้เป็นรุ่นเดียวกับใช้ในรถไฟฟ้า ตอนนี้เป้าหมายคือเรือเพื่อการท่องเที่ยวหรือเรือขนส่งที่มีระยะทางเวลาการวิ่งชัดเจนเพื่อสลับแบตเตอรี่ใช้งานได้ เราได้ทดสอบที่ชุมพร อัตราการเฉลี่ยเราใช้ 2 ชั่วโมงในอัตรา4-6 บาทเทียบกับน้ำมันอยู่ที่70-100 บาท เรือไฟฟ้าได้เปรียบถึง 10 เท่า ขั้นต่อไปคือพัฒนาแบตเตอรี่ซึ่งปัจจุบันกันน้ำอยู่แล้วแต่พัฒนาให้ใช้กับไอเกลือหรือใช้กับเรือที่วิ่งในทะเลได้ เพราะในทะเลต้องสัมผัสกับไอเกลือ สำหรับชุดมอเตอร์ราคารวมเพลาหางและใบพัดราคาอยู่ที่ 7 หมื่นบาท หากแบตเตอรี่ 2 ก้อนจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท ข้อสำคัญคือเรือไฟฟ้าจะมีความเงียบกว่าเรือปกติและไม่มีควัน ซึ่งจากการวิเคราะห์เกี่ยวกับเสียงพบว่าผู้ที่อยู่กับเรือนานกว่า 15 ปีจะสูญเสียการได้ยินไปโดยไม่รู้ตัว ส่วนการสูดเอากลิ่นควันน้ำมันทำให้ปอดเสียหาย การได้ใช้เรือไฟฟ้าจะเป็นมิตรกับผู้ขับขี่ผู้โดยสารและสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นพลังงานสะอาด และที่สำคัญทางมอ.เราไม่ได้จดลิขสิทธิ์ แต่ทำเป็นตัวอย่างเพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปสร้างอาชีพต่อ หรือหากนักศึกษาที่ต้องการนำไปต่อยอดก็สามารถมาศึกษาได้เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ในอนาคตต่อไป……….