#สิ่งควรรู้” ผลการวิจัยเชิงลึกค่าฝุ่นและ Ozone รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
พบว่าการเผาชีวมวลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่า PM 10 PM 2.5 และ โอโซน
ในบรรยากาศมีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน
.
ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาวิจัยเชิงลึกในประเด็นคุณลักษณะและโอกาสในการเกิดผลกระทบของฝุ่น PM 10, PM 2.5 และ Ozone ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พบฝุ่นทั้ง 2 ชนิดส่วนมากมาจากการเผาชีวมวลในที่โล่ง มีสัดส่วนการระบายฝุ่นจากการเผาชีวมวลในที่โล่งค่าสูงสุดถึงร้อยละ 97 และ 98 โดยผลการประเมินความเหมาะสมการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ชี้ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีการปฏิบัติได้ดีกว่ามาตรฐาน
“โครงการวิจัยเชิงลึกในประเด็นคุณลักษณะและโอกาสในการเกิดผลกระทบของฝุ่น PM 10 ฝุ่น PM 2.5 และ โอโซน(Ozone) ในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ”ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2566 ด้วยงบประมาณ 4,973,056 บาท มีภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ พร้อมคณะร่วมกับผู้ปฏิบัติงานแผนกสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะและกองสิ่งแวดล้อมเหมืองแม่เมาะดำเนินการศึกษาวิจัยระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยผลการวิจัยดังกล่าวได้ถูกบรรจุไว้ในรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ฉบับที่ 16 (มกราคม – มิถุนายน 2566) เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเรียบร้อยแล้ว
นางณัฐวิภา กวางทอง หัวหน้าแผนกสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กล่าวว่าโครงการวิจัยนี้เป็นการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสําหรับโครงการหรือกิจการที่อาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางดานคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) โครงการขยายกําลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแมะเมาะ เครื่องที่ 4-7 ที่ให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ศึกษาการประเมินการกระจายตัวของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) และโอโซน(Ozone) โดยรอบพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ ให้ครบถ้วนและครอบคลุมในทุกด้านด้วยทีมนักวิจัยจากหน่วยงานของภาครัฐหรือคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยภายใน 5 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เพิ่มขอบเขตการศึกษาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในงานวิจัยครั้งนี้ด้วย
งานวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
1. การประเมินการระบายของฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 จากปล่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยมีการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่นที่ระบายจากปล่องในช่วงการเดินเครื่องปกติ เพื่อนำมาคำนวณปริมาณการระบายฝุ่นต่อหน่วยการผลิตต่อปี (Emission Factor)
2. การวิเคราะห์ปริมาณการระบายฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดประเภท Area Source ได้แก่ เหมืองแม่เมาะ และการเผาในที่โล่ง
3.การวิเคราะห์การแพร่กระจายของฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 และอิทธิพลของแหล่งกำเนิดที่มีผลต่อความเข้มข้นของฝุ่นในชุมชนและพื้นที่โดยรอบ โดยใช้ข้อมูลผลการตรวจวัดที่ผ่านมาและการคาดการณ์โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เช่น TraPSA และ CULPUFF เป็นต้น
4.การวิเคราะห์ผลกระทบของ Ozone Precursor ที่ระบายจากปล่องต่อการเกิดและการแพร่กระจายของโอโซนในพื้นที่ โดยใช้แบบจำลอง WRF-Chem
จากผลของงานวิจัยนี้พบว่าฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 ไม่ได้เกิดจากปล่องโรงไฟฟ้าและกิจกรรมจากเหมือง หากแต่เกิดจากการเผาชีวมวลในที่โล่งบริเวณพื้นที่การศึกษาเป็นหลัก พบว่าสัดส่วนการระบายของฝุ่น PM 10 และฝุ่น PM 2.5 จากการเผาชีวมวลในที่โล่งมีค่าสูงสุดถึงร้อยละ 97 และ 98 ตามลำดับ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีมาตรการในการควบคุมคุณภาพอากาศทั้งในส่วนการติดตามตรวจสอบ (monitor) และการควบคุมที่แหล่งระบาย (emission control) รวมถึงการฉีดพ่นน้ำบนถนนเป็นประจำเพื่อลดฝุ่นและพรมน้ำบนวัสดุที่มีการฟุ้งกระจายขณะขนถ่าย (fugitive dust control) ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศจากการดำเนินกิจกรรมของโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะแล้ว
ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโรงไฟฟ้าแม่เมาะในการพิสูจน์ว่ากิจกรรมของโรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่า PM 10 , PM 2.5 และ โอโซน ในบรรยากาศมีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ผลการประเมินความเหมาะสมของการตรวจวัดคุณภาพอากาศนั้นชี้ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวนสถานีตรวจวัด รวมไปถึงความถี่ในการตรวจวัด สูงกว่าข้อเสนอแนะในผลการศึกษานี้แล้ว และสุดท้ายข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้จะใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนเพื่อการจัดการด้านอากาศให้แก่โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะในกรณีที่จะมีการขยายหรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยสนับสนุนข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ขอบคุณภาพข่าวจาก โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง