สตูล เปิดป้ายวิทยาลัยอันดามันอนาโตเลียน ดันนักศึกษาฝึกงานอู่ต่อเรือเพื่อพัฒนาอาชีพสู่สากล
ที่วิทยาลัยเทคโนโลยี อันดามันอนาโตเลี่ยน จ.สตูล ซึ่งตั้งอยู่ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีอันดามันอนาโตเลี่ยน โดยมีนายศักระ กปิลกาญจน์ ผวจ.สตูล อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ตัวแทนจากประเทศต่างๆ อาทิ ผู้แทนจากการ์ตา กงสุลใหญ่อินโดนีเซียประจำจ.สงขลา ผู้แทนจากประเทศตุรกี ผู้แทนกัมพูชา กล่าวแสดงความยินดี นายอำเภอควนโดน เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอ.ควนโดนให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก
โดยผู้แทนจากตุรกี ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่รองรับการฝึกงานของนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ ได้กล่าวถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศดังกล่าวว่า การฝึกงานโดยเฉพาะสาขาวิชาช่างต่อเรือ นั้นถือเป็นความร่วมมือทางการศึกษาและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยทางตุรกียินดีที่จะรับนักศึกษาฯฝึกงานที่อิสตัลบูล 70คน ซึ่งอิสตันบูลเป็นอู่ต่อเรือที่ได้มาตรฐานติด1ใน 3 ของโลก เป็นอู่ต่อเรือระดับลัคชูรี่ นอกจากจะผลิตยานพาหนะกระจายในภูมิภาคนี้แล้ว ยังผลิตเรือเพื่อการท่องเที่ยว ตุรกียังพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีความมั่นคงทางทะเล การประมง ซึ่งนักศึกษาไม่ได้เรียนรู้เฉพาะการผลิตเรือ ต่อเรือ แต่เรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทางตุรกีหวังว่านักศึกษาที่ไปฝึกงานที่อู่ต่อเรืออิสตันบูล สามารถกลับมาพัฒนาประเทศและผลิตแบรนด์ของตนเองเพื่อกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้ได้ด้วย เพราะที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของตุรกีประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้มีการสั่งซื้อเยอะมาก
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่าเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของวิทยาลัยฯกับทางตุรกีสามารถพัฒนาศักยภาพนักศึกษาของไทยได้ และนักศึกษาของวิทยาลัยแห่งนี้มีโอกาสก้าวหน้าอย่างแน่นอน เพราะตุรกีเองอยู่ใกล้ยุโรปและเยอรมัน เขาเรียนรู้จากทั้งสองประเทศได้ดีมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อนักศึกษาฯของเราในอนาคต เป็นการเรียนที่สามารถสร้างคนเพื่อที่จะกลับมาพัฒนาประเทศได้ในอนาคต
นายอับดุลลอฮ์ อาเก็ม ประธานมูลนิธิอิบนูเอาฟ และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตวิทยาลัยอันดามันอนาโตเลี่ยน กล่าวว่า วิทยาลัยฯภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิอิบนูเอาฟ เป็นวิทยาลัยที่บูรณาการ การศึกษาอาชีวะด้านเทคโนโลยี งานธุรกิจกับหลักศาสนาอิสลามได้อย่างลงตัว ในปี67 เปิดรับนักศึกษา 5 สาขาวิชาคือสาขาวิชาการบัญชี ซึ่งมุ่งผลิตนักศึกษาให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถด้านการบัญชีเพื่อใช้พัฒนาตนเองและสังคม ให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ สาขาวิชาการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการจัดการท่องเที่ยวที่ฮาลาลสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพตามหลักสากล สาขาวิชาช่างต่อเรือ สาขางานต่อเรือไม้และไฟเบอร์ มุ่งเน้นสู่การปฏิบัติงานจริง สร้างผู้เรียนให้มีทักษะด้านต่อเรือ มีประสบการณ์ในงานอาชีพ บูรณาการเรียนรู้ด้วยภาษาต่างประเทศและหลักอิสลาม สาขาต่างประเทศธุรกิจ ผลิตนักศึกษาให้มีความพร้อมด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศเพื่อใช้พัฒนาตนเองและสังคม และสาขาเทคโนโลยีการต่อเรือ การเรียนรู้ที่มุ่งเน้นสู่การปฏิบัติงานจริง โดยเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ฝึกประสบการณ์วิชาชีพในอู่ต่อเรือที่มีชื่อเสียงในและต่างประเทศ ………………
คอดีเย๊าะ เงินเจริญ //จ.สตูล