นครพนม-ทม.นครพนม แข่งเรือยาวจ้าวลำน้ำโขง เชื่อมประเพณีสัมพันธ์ไทย-ลาว ชิงถ้วยพระราชทานสนามใหญ่สุด ชมพิธีโบราณตีช้างน้ำนองก้องคุ้งน้ำ

นครพนม-ทม.นครพนม แข่งเรือยาวจ้าวลำน้ำโขง เชื่อมประเพณีสัมพันธ์ไทย-ลาว ชิงถ้วยพระราชทานสนามใหญ่สุด ชมพิธีโบราณตีช้างน้ำนองก้องคุ้งน้ำ


*****
วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่ริมแม่น้ำโขง หน้าวัดพระอินทร์แปลง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม นางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดฯนครพนม นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ ปลัดจังหวัดฯ นางสาว ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนมได้ร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณีสัมพันธ์ไทย-ลาว ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม โดยมี นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองนครพนม นำคณะผู้บริหาร พร้อมเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างเทศบาลฯทุกกอง เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว
นายก ทม.นครพนม เปิดเผยว่า งานแข่งขันเรือยาวชิงจ้าวลุ่มน้ำโขง อยู่ในห้วงงานประเพณีไหลเรือไฟจังหวัดนครพนมของทุกปี และมีประวัติยาวนานก่อนจะมีการประกวดไหลเรือไฟประยุกต์ในปัจจุบัน โดยสืบทอดกันมาแต่โบราณ อดีตจะแข่งขันกันระหว่างไทย-ลาว (นครพนม-คำม่วน) เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ของคนสองฝั่งโขง ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนสองฝั่ง ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ
ต่อมาประเพณีแข่งขันเรือยาวในลุ่มน้ำโขง ได้รับการส่งเสริม เพิ่มศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของ จ.นครพนมสู่สาธารณะ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสู่ประตูอินโดจีน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัล สำหรับเรือยาวประเภท 55 ฝีพาย และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัลประเภท 12 ฝีพาย ประเภท 35 ฝีพายแก่เรือเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีไทย-ลาว และ 40 ฝีพายในประเภททั่วไป โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 4 ประเภท มีเรือเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 63 ลำ และเงินรางวัลรวมเกือบ 600,000 บาท
หลังพิธีเปิดเสร็จสิ้น ก่อนเริ่มการแข่งขันชิงจ้าวลำน้ำโขง ถือเป็นสนามที่ใหญ่สุดของ จ.นครพนม ต้องมีพิธีตีช้างน้ำนอง เป็นพิธีโบราณที่หาชมได้ยาก เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เทวดา พญานาค แม่คงคา ตามความคติเชื่อของคนลุ่มน้ำโขง เพื่อความเป็นสิริมงคล และความปลอดภัยในการประลองความแข็งแกร่งของร่างกายพายแข่งขันชิงจ้าวลำน้ำโขง โดยเรือที่เข้าร่วมแข่งจะมีการโห่ร้อง เป็นจังหวะเพื่อเบิกฤกษ์ จากนั้นฝีพายจะใช้ใบพาย ยกขึ้นเหนือน้ำอย่างพร้อมเพรียง ทำให้น้ำกระเซ็นเป็นฝอยขึ้นบนอากาศ ลักษณะคล้ายโขลงช้างกำลังเล่นน้ำ คนโบราณจึงนำมาเปรียบเป็นพิธีตีช้างน้ำนอง ในช่วงการแข่งขันเรือยาวประเพณีออกพรรษาถึงปัจจุบัน
//ภาพ-ข่าว//พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล//นครพนม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *